(เพิ่มเติม) กนอ.-PTTGC-ส.อ.ท. MOU ศึกษาตั้งคลัสเตอร์อุตฯพลาสติกในเขตศก.พิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 12, 2015 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) , กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสถาบันพลาสติก เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนการจัดตั้ง คลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลาสติกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นำร่องในพื้นที่แม่สอด จ.ตาก หลังเตรียมที่ดิน 2 พันไร่รองรับการลงทุน คาดเปิดดำเนินการได้ในปี 60 เบื้องต้นใช้เงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนเบื้องต้นของภาคเอกชนราว 1 หมื่นล้านบาท

“ครั้งนี้เป็นการผสมผสานเชิงนโยบายเรื่องนิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจะเป็นคลัสเตอร์ในเขตพื้นที่นั้นด้วย พื้นที่แม่สอด นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี พม่าต้องการสินค้าประเภทนี้เยอะ...พื้นที่ทำนิคมฯเป็นพื้นที่ของรัฐทั้งหมด ส่วนนิคมฯจะเป็นเอกชน หรือกนอ.ทำเอง ค่อยตัดสินกันอีกที"นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนครั้งนี้ จะเป็นการผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและเชื่อมโยงการค้า การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค และภูมิภาคอาเซียน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ตลอดจนเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ขณะที่ในส่วนของต้นทุนแรงงานอาจจะไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากยังต้องจ่ายค่าแรงงาน 300 บาท/วันตามกฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ).ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 16 มี.ค. จะมีการกำหนดพื้นทีเป้าหมายที่ชัดเจนจากเบื้องต้นที่กำหนดพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก , จ.มุกดาหาร ,จ.สระแก้ว ,จ.สงขลา และจ.ตราด ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยจะเป็นพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ ส่วนการบริหารจะเป็นเอกชนหรือกนอ.ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการกนอ. กล่าวว่า หลังจากการลงนามในวันนี้แล้ว จะมีการจัดตั้งทีมงานเพื่อศึกษาร่วมกัน โดยมีพื้นที่นำร่อง ได้แก่ แม่สอด จ.ตาก และจ.สระแก้ว เพื่อจัดทำเป็นคลัสเตอร์พลาสติก โดยมีอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ประจำวันเป็นอุตสาหกรรมนำร่อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากได้เป้าหมายสินค้าที่ชัดเจนแล้ว ก็จะใช้เวลาศึกษาออกแบบ และวางผังของพื้นที่นิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 58 และพัฒนาพื้นที่ปี 59 พร้อมเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ในต้นปี 60

สำหรับพื้นที่นิคมฯขนาด 2 พันไร่นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสร้างสาธารณูปโภคราว 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินลงทุนภาคเอกชนเข้ามาในพื้นที่เบื้องต้นราว 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนการสนับสนุนของสถาบันพลาสติก จะให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก และศึกษารูปแบบการดำเนินการและการบริการต่างๆที่เหมาะสม และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมด้านการตลาด ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท.จะให้การส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและประสานงานระหว่างกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมกับส่วนงานราชการผู้จำหน่าย และหาช่องทางสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในประเทศได้ขยายตลาดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นายวีรพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเจรจาเพื่อจัดตั้งคลัสเตอร์กลุ่มกระดาษ และอาหารต่อไปด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTGC กล่าวว่า พื้นที่แม่สอด นับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการส่งออกสินค้าจากไทย โดยในส่วนของบริษัทนอกจากจะให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้และการหาพันธมิตรเข้าไปร่วมดำเนินการนั้น บริษัทก็จะยังจัดตั้งคลังสินค้า เพื่อเก็บเม็ดพลาสติก รอผู้ประกอบการนำไปใช้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และมีวัตถุดิบรองรับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ