แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,308,427.40 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 93.82 และหนี้ต่างประเทศ 349,631.96 ล้านบาท (ประมาณ 10,585.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.18 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,423.01 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 30 มกราคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.81 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ
โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,525,971.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.67 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 132,087.74 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.33
"หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปัจจุบันยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก โดยคาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 58 จะมียอดคงค้างอยู่ที่ 49%"
สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มกราคม 2558 แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 42,109.72 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท, การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,116.61 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 1,988.23 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 200 ล้านบาท การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 618.23 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,170 ล้านบาท
- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,802 ล้านบาท
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 5,058.56 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,919.63 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 1,046 ล้านบาท
"การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืน มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน" นายธีรัชย์ กล่าว