แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,308,427.40 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 93.82 และหนี้ต่างประเทศ 349,631.96 ล้านบาท (ประมาณ 10,585.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.18 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,423.01 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 30 มกราคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.81 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ
โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,525,971.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.67 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 132,087.74 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.33
"หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปัจจุบันยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก โดยคาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 58 จะมียอดคงค้างอยู่ที่ 49%" นายธีรัชย์ กล่าว
สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มกราคม 2558 แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 42,109.72 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท, การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,116.61 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 1,988.23 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 200 ล้านบาท การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 618.23 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,170 ล้านบาท
- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,802 ล้านบาท
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 5,058.56 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,919.63 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 1,046 ล้านบาท
"การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืน มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน" นายธีรัชย์ กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบ 58 จนถึงสิ้นเดือนม.ค.58 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 1.4 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2.5 แสนล้านบาท
รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแนวทางการกู้เงินในปีงบประมาณ 58 สำหรับการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำและถนน รวม 5.7 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด 8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนนี้แบ่งเป็นโครงการลงทุนด้านน้ำ 2.3 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนด้านถนน 3.2-3.3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเลือกการกู้ในลักษณะ Term Loan หรือกู้โดยการออกพันธบัตร
อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเริ่มกู้เงินและจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. และเชื่อว่าเม็ดเงินจะทยอยลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง สำหรับวงเงินในส่วนที่เหลืออีกราว 2.3 หมื่นล้านบาทนั้น จะแบ่งไปกู้ในปีงบประมาณ 59 โดยแนวทางเบื้องต้นจะทยอยกู้ตามความจำเป็น