โดยข้อดีของระบบตั๋วร่วมคือผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกในการใช้บริการแล้วต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการขนส่งจะลดลงด้วย ซึ่งเมื่อระบบขนส่งทุกประเภทใช้ระบบตั๋วร่วมหมดแล้วคณะกรรมการด้านนโยบายซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดตั้งโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะมีการพิจารณาเรื่องค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป
“เบื้องต้นได้เร่งรัดให้ปรับแผนการดำเนินงานจากเดิมที่จะมีการวางและพัฒนาระบบ 18 เดือนหรือประมาณเดือนสิงหาคม 2559 จึงจะทดสอบระบบได้ เป็นภายใน 10 เดือนหรือเริ่มทดสอบในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งประชาชนในกทม.มีหลายล้านคนประเมินว่าจะมีผู้ถือตั๋วร่วมจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งช่วงเริ่มต้นจะมีผู้โดยสาร BTS วันละ กว่า 7 แสนคน ผู้ใช้ทางด่วนอีกวันละแสนคน"พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) นั้นหลักการจะจัดตั้งจะเป็นบริษัทจำกัด รัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยใช้วิธีลงทุนแบบรัฐร่วมทุนเอกชน (Public private Partnership : PPP) โดยร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ 1. ภาครัฐ ถือหุ้นประมาณ 40% 2.ภาคเอกชนที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เช่น บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)ซึ่งเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส , บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) สัดส่วนประมาณ 20% 3. ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบ ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศ สัดส่วนประมาณ 40% โดยใช้วิธีเปิดประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ซึ่งสัดส่วนหุ้นดังกล่าวยังไม่สรุป อยู่ระหว่างประเมินความเหมาะสม โดยในช่วงนี้ได้มีการตั้งหน่วยธุรกิจ (BU) ตั๋วร่วม ภายใต้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อให้ทำหน้าที่บริหารการให้บริการตั๋วร่วมก่อน
โดย CTC จะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงระบบตั๋วร่วมให้ และคิดค่าบริการในการบริหาร บำรุงรักษาและจัดเก็บรายได้กลาง หรือ ค่าธรรมเนียมการใช้ (Transaction Fee) จากผู้ประกอบการขนส่งแต่ละรายประมาณ 1% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าโดยสารของผู้ประกอบการแต่ละรายในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่กว่า 3 % ของค่าใช้จ่ายรวม ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการขนส่งประหยัดค่าใช้จ่ายลงจะสามารถลดค่าโดยสารลงได้ โดยเฉพาะค่าแรกเข้าประมาณ 15บาท จะต้องมีการพิจารณาว่าจะปรับลดลงได้อย่างไร นอกจากนี้ CTC จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการใช้งานร่วมกับร้านค้าซึ่งจะเจรจากันในรูปแบบธุรกิจ โดยค่าธรรมเนียมสูงกว่าของระบบขนส่ง
ทั้งนี้ คาดว่า CTC จะมีวงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โดยจะเป็นค่าปรับปรุงระบบประมาณ 244 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าปรับปรุงระบบของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 80 ล้านบาท ,ระบบ BTS 60 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 60 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน และค่าบริหารจัดการอีกกว่า 160 ล้านบาทต่อปี
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่ BTSC และกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) กล่าวว่า การลดค่าโดยสารลงหลังใช้ระบบตั๋วร่วมนั้น จะต้องหารือกันและดูข้อเท็จจริงในหลายองค์ประกอบเช่น ค่าใช้จ่ายของบริษัทลดลงจริงหรือไม่ ถ้าลดก็มีโอกาสที่จะลดค่าโดยสารลง ซึ่งตามสัญญาสัมปทานนั้น มีการกำหนดโครงการค่าโดยสารไว้ แต่การปรับลดลงเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ลดค่าโดยสารครึ่งราคาให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีระบุในสัญญา
โดยสนข.ได้ลงนามสัญญาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 338ล้านบาท กับ กลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย BTS ,บริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และเริ่มงานเมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ ทำการออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบระบบ 18 เดือน จากนั้นจะเป็นการบำรุงรักษา 24 เดือนรวม สัญญา 42 เดือน