(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ เตรียมบินจีน 8 พ.ค.เซ็นสัญญาซื้อข้าว-ยาง แบบจีทูจี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 12, 2015 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรไทย-จีนว่า ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ตนจะนำคณะเดินทางไปประเทศจีน เพื่อลงนามสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ได้แก่ สัญญาซื้อขายข้าวจากไทย 2 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาล 1 ล้านตัน และข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดขณะนี้อีก 1 ล้านตัน ซึ่งกำหนดส่งมอบภายในปี 59 ในราคาตลาด ณ ท่าเรือกรุงเทพ (เอฟโอบี) และสัญญาซื้อขายยางพาราจากไทยอีก 200,000 ตัน ราคาเอฟโอบีบวกราคามิตรภาพ

การส่งมอบข้าว ฝ่ายจีนจะเป็นผู้จัดหาเรือขนส่งสินค้าแบบคอนเทนเนอร์มารับเอง กำหนดปริมาณการขนส่งสินค้าขั้นต่ำในแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 ตัน ส่วนการตรวจสอบคุณภาพ ทั้ง 2 ฝ่ายจะแต่งตั้งผู้แทน หรือบริษัทเซอร์เวย์ ที่จะกำกับดูแลการตรวจสอบข้าวอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้ในสัญญา

"ถือว่าเข้มงวดขึ้นกว่าการตรวจสอบคุณภาพข้าวสัญญาเดิม 1 ล้านตันที่ส่งมอบไปแล้ว 300,000 ตัน เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ ให้เก็บตัวอย่างข้าวไว้ที่ 5 หน่วยงาน คือ กรมการค้าต่างประเทศ คอฟโก บริษัทเซอร์เวย์ของทั้ง 2 ฝ่ายและ บริษัท CCIC ซึ่งเป็นบริษัทเซอร์เวย์ของจีนในไทย"

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนสัญญาซื้อข้าวจีทูจีเดิมของรัฐบาลก่อนปริมาณ 1 ล้านตัน ระหว่างไทยกับบริษัท คอฟโก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ที่ล่าสุดส่งมอบไปได้เพียง 300,000 ตันนั้น จีนได้ขอให้ไทยส่งมอบภายในก.ค.นี้ อีก 300,000 ตัน เป็นข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวเหนียว ปีการผลิตล่าสุด ในราคาตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเพราะมีความต้องการจากต่างประเทศมารออยู่แล้ว

ส่วนยางพารา ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้องค์การสวนยาง เป็นผู้ดำเนินการ และฝ่ายจีนมอบหมายให้ SINOCHEM เป็นผู้ดำเนินการภายใต้สัญญาซื้อขายยาง โดยตกลงที่จะซื้อขายยางชนิดต่างๆ ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ปริมาณ 150,000 ตัน และยางแท่ง (STR 20) ปริมาณ 50,000 ตัน โดยยางพาราที่จะส่งมอบ ต้องผลิตตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.57 เป็นต้นมา และมีระยะเวลาการส่งมอบ 12 เดือน โดยปริมาณการส่งมอบสินค้าในแต่ละเดือนจะเป็นปริมาณเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน (บวกลบไม่เกิน10% ) รวมทั้งกำหนดท่าขนถ่ายสินค้า ณ ต้นทาง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และท่าเรือสงขลา จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ จีนยังตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตรอื่นๆ จากไทยตลอดช่วงเวลาการสร้างทางรถไฟในไทย ซึ่งจะหารือรายละเอียดอีกครั้งว่าเป็นสินค้าใด ปริมาณเท่าไร ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อยู่แล้ว หากสามารถเป็นช่องทางขายสินค้าเกษตรได้อีกก็จะเป็นเรื่องที่ดี และไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นจีนแต่ประเทศใดก็ได้ที่มีศักยภาพก็สามารถสร้างความร่วมมือกับไทยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ