สำหรับแผนฟื้นฟูนั้น ทางนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.จะต้องเร่งจัดทำแผนเพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงการบริการ การเดินรถ การแข่งขันด้านขนส่งสินค้า และเตรียมพร้อมเรื่องการปลดภาระหนี้สินและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และปรับอัตรากำลังใหม่ โดยจะเร่งเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนกระทรวงคมนาคมจะผลักดันให้ร.ฟ.ท.มีความพร้อมในเรื่องการเตรียมบุคลากรสำหรับรองรับการให้บริการในอนาคต ทั้งระบบราง 1 เมตรและราง 1.435 เมตร
นายอำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพฯร.ฟ.ท.กล่าวว่า ได้ขอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งกรมรางซึ่ง กระทรวงได้ระบุ กรมรางจะทำให้ที่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและกำกับดูแล ส่วนงานซ่อมบำรุงและเดินรถยังอยู่กับร.ฟ.ท.เหมือนเดิมโดยตัดเอกชนออกจากงานซ่อมบำรุง ซึ่งสหภาพฯเห็นว่า ยังมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ซ่อนอยู่ เรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เนื่องจากการให้เอกชนนำรถมาวิ่งแข่งขันอย่างเสรีบนรางไม่ถูกต้อง เพราะระบบรางยังไม่เป็นทางคู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญ ข้อกฎหมายขนส่ง พ.ร.บ.การจัดวางรถไฟหลวง พ.ศ. 2464 และการบริหารจัดการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ด้วย ในมาตรา 43 ไม่ให้เอกชนเข้ามาวิ่งแข่งบนรางเพราะจะไม่เป็นธรรมกับรถไฟ และยังเป็นข้อกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เอกชนนำทรัพย์ของรถไฟไปบริหารจัดการเอง ซึ่งต้องเข้าใจว่า การลงทุนให้บริการรถไฟต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก จะมีเอกชนน้อยรายที่จะเข้ามาได้ ดังนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับบางกลุ่มเหมือน การประมูลคลื่นมือถือ ที่มีผู้ประกอบการไม่กี่ราย ซึ่งล่าสุดก็มีเอกชน ทั้งซีพี และไทยเบฟ สนใจที่จะเข้ามาลงทุน สหภาพฯเป็นห่วงทรัพย์สินรถไฟที่ควรจะคงอยู่บนกับร.ฟ.ท. เพราะหากจะให้เอกชนเข้ามาจะต้องยกเลิกพ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง
“สหภาพฯไม่คัดค้านกรมราง แต่ต้องชัดเจนว่าจะเข้ามากำกับดูแลอะไรบ้าง และการแก้หรือยกเลิกพ.ร.บ. 2 ฉบับดังกล่าว จะทำให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนรางและยังนำที่ดินของรถไฟไปบริหารจัดการเอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาภายในร.ฟ.ท. จึงได้ฝากให้รมว.คมนาคมพิจารณา พร้อมกันนี้สหภาพฯยังพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร หลังจากนี้สหภาพฯ จะไปชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน ในเรื่องการจัดตั้งกรมราง พร้อมกันนี้จะให้ข้อมูลเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับโครงการในอนาคต “นายอำพนกล่าว