(เพิ่มเติม) เลขาฯสภาพัฒน์ คาดศก.Q1/58 โต 3% จากลงทุนเอกชน-ท่องเที่ยว-ใช้จ่ายภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2015 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะสามารถเติบโตได้ 3% จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 6% หากรวมมี.ค.ก็คาดว่าจะเบิกจ่ายได้มากกว่า 6%

2.การท่องเที่ยว โดยจากช่วงกลางปี 57 จนถึงล่าสุดพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความมั่นใจในเรื่องของความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก 3.การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการด้านการเงิน ที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง และ 4. มาตรการเร่งรัดการใช้จ่าย ที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องมีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในมี.ค.

โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2558 คือ การท่องเที่ยว, การลงทุนภาครัฐ, การบริโภค และภาคการเกษตร และคาดการณ์จีดีพีทั้งปีขยายตัว 3.5-4.5%

"มาตราการทั้งหมดจะทำให้ GDP ในไตรมาสแรกปี 2558 โตถึงร้อยละ 3 และจะโตขึ้นเรื่อยในไตรมาสต่อไป เนื่องจากจะมีการทำสัญญาการก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม และจะมีเม็ดเงินของกระทรวงคมนาคมอีก 4 หมื่นล้านบาท" นายอาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายอาคม ในฐานะรมช.คมนาคม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนว่า ทั้ง 2 ประเทศได้ประชุมร่วมกันไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งตกลงกันว่าการออกแบบและการใช้เทคโนโลยีระบบรางเป็นของจีน ส่วนบริษัทก่อสร้างจะเป็นของไทย ส่วนการเดินรถนั้นจะมีการตั้งบริษัทเดินรถร่วม ขณะที่แหล่งเงินมาจากทั้งงบประมาณ ซึ่งจะแบ่งเป็นทั้งใช้งบในประเทศ และกู้จากจีน โดยตารางเวลาที่กำหนดไว้ในเดือนมี.ค.-ส.ค. จะศึกษาความเป็นไปได้ และการสำรวจ และออกแบบระบบ ในช่วง 2 เส้นทาง คือ 1.กรุงเทพฯ-แก่งคอย และ 2. แก่งคอย-มาบตาพุด จากนั้นในเดือนก.ย.จะเป็นการอนุมัติในขั้นตอนต่างๆ ซึ่ง 2 ช่วงแรก จะเริ่มก่อสร้างในเดือนต.ค. โดยจะต้องทำควบคู่กับการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย จะทำเรื่องการสำรวจและออกแบบ คาดว่าจะเป็นภายในเดือนพ.ย.และธ.ค.นี้ โดยการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มต้นปี 2559

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจให้นายอาคม ในฐานะเลขาธิการครม.เศรษฐกิจ รายงานภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศในทุกสัปดาห์ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่ในสภาวะชะลอตัว มีการปรับลด GDP จาก 3.8% เหลือ 3.5% รวมถึงกลุ่มประเทศที่เกิดใหม่ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย อยู่ในสภาวะชะลอตัวมีการปรับลด GDP จาก 4.9% เหลือ 4.3% จึงถือว่าสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเหมือนกันทั้งโลก และส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง รายได้ประชาชนลดลง และแรงงานอุตสาหกรรมลดลง จึงต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจึงกำชับกระทรวงพาณิชย์ให้รักษาฐานตลาดเดิมไว้ และเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อส่งออกสินค้าไปเพื่อนบ้านแทนตลาดโลก และคงตลาดเก่า แต่สร้างส่วนแบ่งการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งให้เร่งรัดการลงทุนในภาครัฐที่คาดว่าสิ้นเดือนมี.ค.จะทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ถึง 90% ของโครงการทั้งหมด พร้อมทั้งให้เร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทางและรายงาน ครม.รับทราบความคืบหน้าในทุกสัปดาห์ ประกอบกับการผลักดันโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างระบบชลประทานและขุดลองคูคลอง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ จัดเตรียมหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรในฤดูการผลิตที่กำลังจะมาถึง โดยไปจัดทำในลักษณะของวิสาหกิจชุมชนให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตำบล เช่น โรงสีชุมชน รถเกี่ยวข้าวร่วมกัน จัดต้องเป็นกองทุนในหมู่บ้าน โดยให้สำรวจความต้องการให้แล้วเสร็จในเดือนมี.ค.นี้ และพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

นายอำพน คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปีนี้จะถือเป็นช่วงของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด โดยยอมรับว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ สภาวะเศรษฐของโลก ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้, การจัดระเบียบของภาครัฐ ที่ทำให้ธุรกิจมืดที่สร้างรายได้ให้กับคนรากหญ้ามีเม็ดเงินลดลง และการแก้ไขโครงสร้างกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดยไม่ใช้วิธีการอัดเม็ดเงินหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะจะทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง รวมถึงเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมานโยบายประชานิยมบางอย่างมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง

ขณะที่นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างไฟฟ้า 6 สายที่สำคัญ โดยสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ไทยได้เร่งรัดประเทศญี่ปุ่นในการประกอบตัวรถเพื่อนำมาทดลองการเดินรถขบวนแรกภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน จากนั้นจึงจะทยอยส่งตัวรถ โดยเดือนก.ย.58 จะมีการทดสอบ และทดลองเดินรถทั้งระบบในเดือนมี.ค.59 และเปิดเต็มรูปแบบเดือนส.ค.59

ส่วนสายที่ 2 สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร มีความคืบหน้าด้านโยธา ร้อยละ 60 และอยู่ระหว่างให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมแข่งขันระบบงานเดินรถ คาดเปิดให้บริการกลางปี 2562

ขณะที่สายสีเขียวสายใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ มีความคืบหน้าในการก่อสร้างกว่าร้อยละ 51 คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ทันในปี 2563 เช่นเดียวกับสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเริ่มก่อสร้างในเดือนมิ.ย.นี้

สำหรับรถไฟอีก 3 สายที่รฟม.อยู่ระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการต่อกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ประกอบด้วย สายสีส้ม พระราม9–มีนบุรี ช่วงระยะทาง 21 กม. หาก ครม.อนุมัติจะเปิดให้ประกวดราคาก่อสร้างได้ในปีนี้ คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2559 และเดินรถได้ในปี 2563 ส่วนสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองนั้น หากผ่านความเห็นชอบคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ