นอกจากนี้ ไทยยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการลดอุปสรรคในการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดสหรัฐฯ โดยการนำบรรจุภัณฑ์แบบดัดแปรบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging : MAP) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยขนส่งสินค้าทางเรือทดแทนการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งขอให้สหรัฐฯ เร่งรัดการพิจารณาอนุญาตนำเข้าส้มโอ โดยสหรัฐฯ มีความยินดีที่จะร่วมมือในการลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ โดยเสนอแนะทางเลือกในการกำจัดศัตรูพืชก่อนการส่งออกหลายวิธี นอกเหนือจากการฉายรังสีผลไม้ อาทิ การใช้ความเย็น (Cold Treatment) และการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment) และพร้อมที่จะหารือในเชิงเทคนิคต่อไป คาดว่าไทยจะสามารถขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย อาทิ เงาะ มะม่วง และลำไย ในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ต่อไป
พร้อมกันนี้ ไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ผลักดันให้รัฐสภาผ่านกฎหมายการต่ออายุ GSP โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทยและผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่จะมีทางเลือกสินค้าหลากหลายมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ติดตามเรื่องความคืบหน้าในการเปิดตลาดเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ของไทย และการเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ตกค้างตามมาตรฐาน Codex และพร้อมจะหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต่อไป ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการหารือ TIFA JC กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันต่อไป
สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2557) การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 การค้ารวมระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 38,471.21 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 23,891.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 14,579.60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มูลค่า 9,312.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ