ทั้งนี้ ระเบียบของคณะกรรมการกิจการพลังงาน(กกพ.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ระบุว่า สถานที่ตั้งโครงการจะต้องเป็นพื้นที่ ในกรณีที่เป็นหน่วยงานราชการ ให้โครงการตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุ ซึ่งหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ครอบครอง และได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้นำพื้นที่ราชพัสดุในครอบครองมาใช้ประโยชน์ในโครงการนี้ หรือเป็นที่ดินที่หน่วยงานราชการเป็นเจ้าของที่ดิน
ส่วนกรณีที่เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร ให้โครงการตั้งอยู่ในที่ดินที่สหกรณ์ภาคการเกษตร เป็นเจ้าของหรือที่ดินที่สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายเพื่อใช้ดำเนินโครงการ
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งคือหน่วยงานราชการหรือสหกรณ์ภาคการเกษตร จะต้องยื่นความจำนงขอเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำหนด โดยภายหลังจากที่เจ้าของโครงการได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว ให้เจ้าของโครงการ หรือผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งคือนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนเจ้าของโครงการในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มายืนคำร้อง และข้อเสนอขอขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบ ในปริมาณการรับซื้อที่ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 MW/โครงการ รวมให้เต็มตามเป้าหมาย 800 MW สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี และจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ภายในกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(SCOD)
ทั้งนี้ ให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า หากไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก
ในกรณีที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดวัน SCOD ได้ สามารถทำเรื่องแจ้งเพื่อให้พิจารณาขยายวัน SCOD ออกไปได้อีก แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.59 สำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่ไม่เกินCapacity Factor (อัตราส่วนร้อยละของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจริงในรอบ 1 ปี เปรียบเทียบกับผลคูณของขนาดกำลังการผลิตติดตั้งและจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งปี) 16% จะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า(FiT) ที่ 5.66 บาท/หน่วย
นอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวยังมีข้อห้ามไม่ให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้า หรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกพ. ส่วนกรณีผู้สนับสนุนโครงการเป็นนิติบุคคล ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ถือหุ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือเหลือน้อยกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจนกว่าโครงการจะได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) เป็นระยะเวลา 3 ปี