สำหรับความคืบหน้าของโครงการสร้างรายได้ฯ(ข้อมูล ณ วันที่ 20 มี.ค.58) มีการจัดทำโครงการตามความต้องการของชุมชนครบถ้วนแล้วทั้ง 3,046 ตำบล สามารถผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอจำนวน 2,716 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 89.02 ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัดจำนวน 2,001 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 65.59 และคณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณาเห็นชอบจำนวน 1,455 โครงการจาก 920 ตำบล ใน 52 จังหวัด เป็นเงินประมาณ 628.249 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์ 352,396 ครัวเรือน มีจำนวนแรงงานไม่น้อยกว่า 46,000 ราย ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างรัดกุมและได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการเป็นอย่างดี
ลักษณะกิจกรรมทั้งหมดสามารถสรุปได้คือ 1) กิจกรรมเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน ประมาณ 58% อาทิ กิจกรรมกำจัดวัชพืชน้ำคลองส่งน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร กิจกรรมซ่อมแซมและขุดฝังท่อน้ำดิบ กิจกรรมฝายดินเรียงหินยาแนว เป็นต้น 2) ลักษณะกิจกรรมปรับปรุงพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 32% อาทิ กิจกรรมลานตากข้าวชุมชน กิจกรรมผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว กิจกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้กวาด เป็นต้น 3) ลักษณะกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 7% อาทิ การผลิตเห็ดนางฟ้า ส่งเสริมการประดิษฐ์กระทง จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น และ 4) ลักษณะกิจกรรมเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร 3% อาทิ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เป็นต้น
ในเบื้องต้น สำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณงวดแรกให้กับ 90 โครงการ 10 จังหวัด 58 ตำบล วงเงินจำนวน 39.428 ล้านบาท ได้แก่ ชัยนาท ชลบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ลำปาง นครสวรรค์ อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา และคาดว่าจะอนุมัติเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ประมาณ 210.444 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จตามกำหนดภายในเดือนเมษายนนี้ พร้อมเพิ่มเจ้าหน้าที่ทำงานทุกวันอย่างต่อเนื่อง