ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า แผนดำเนินงานของแอร์พอร์ตลิงก์ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น(ปี 57-59) บริหารการเดินรถที่มีอยู่ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ยสูงสุด 55,000 คนต่อวัน พร้อมทั้งจัดหาอะไหล่สำรองประเภท Critical Spare Part ให้เพียงพอ ดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่(Overhaul) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เช่น ลิฟท์ตัวใหญ่ทุกสถานี ป้ายสัญลักษณ์ภายในสถานีต่างๆ เก้าอี้นั่ง และระบบ CCTV พัฒนาทางเชื่อมเข้าออกสถานีรายทาง ปรับปรุงภูมิทัศน์ตามสถานี
แผนระยะกลาง(ปี 57-61) จัดหารถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้ จำนวน 7 ขบวน พร้อมอะไหล่สำรอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งจากเดิมเฉลี่ย 45,000 คนต่อวัน เป็น 96,600 คนต่อวัน คาดว่าจะรองรับไปจนถึงปี 68 และแผนระยะยาว(ตั้งแต่ปี 62) จัดหารถไฟฟ้าเพิ่มเติม ชุดที่ 3 และชุดที่ 4 เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร และเตรียมการการเปิดเดินรถโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง
สำหรับการซ่อมบำรุงบางส่วน หรือ Partial Overhual ข้อกำหนดในการซ่อมบำรุงใหญ่กำหนดแล้วเสร็จเดือน มี.ค.58 และเริ่มซ่อมบำรุงใหญ่นั้นจะเริ่มทำขบวนแรกภายในเดือน มิ.ย.59 และการซ่อมบำรุงใหญ่ระบบต่างๆ ใช้เวลา 1 เดือนต่อ 1 ขบวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน หรือเดือน ก.พ.60 การซ่อมบำรุงใหญ่ระบบเบรกใช้เวลา 5 เดือน ต่อ 1 ขบวน (ต้องส่งซ่อม บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ เริ่มทำขบวนแรก Express 03 การซ่อมบำรุงใหญ่ครั้งต่อไป เมื่อระยะวิ่งที่ 2.4 ล้าน กม.คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 60
และเมื่อเร็วๆนี้ได้ประสานกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. เพื่อขอหยุดวิ่งให้บริการหลังเวลา 24.00 น.ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ หลังจากได้ทำการให้บริการจำนวน 2 ขบวนมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อรองรับผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ปรากฎว่า มีผู้ใช้บริการจำนวนน้อยมาก ทำรายได้จากค่าโดยสารราว 1,000 บาท/เที่ยวเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ราว 12,000 บาทต่อเที่ยว และเพื่อให้มีเวลานำรถเข้าพักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับให้บริการผู้โดยสารในช่วงเช้าต่อไป