สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจะเป็นงานสนับสนุนการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่สำคัญ และเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนายกระดับเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ประกอบด้วย 1.โครงการจัดทกฐานข้อมูลเอสเอ็มอี แห่งชาติ ลงทุน 40 ล้านบาท เป็นการจัดการระบบฐานข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศ ให้อยู่ในรูปแบบ Business Intelligence(BI) โดยบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลของเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ
2.โครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 42 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกแบบการขึ้นทะเบียนและกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนโดยกำหนดเป้าหมายขี้นทะเบียนให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 รายในปีแรกนี้
3.โครงการสนับสนุนและพัฒนาเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูง(SME National Champion) วงเงิน 60 ล้านบาท โดยการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพทั่วประเทศ เข้ารับการประเมินในระบบ SCoring และทำการส่งเสริมให้เติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ Fast Track เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสามารถผลักดันสินค้าออกสู่สากลและเป็นผู้สร้างนวตกรรมใหม่ให้กับประเทศ
4.การจัดตั้งศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีควบวงจรในรูปแบบวันสต๊อปเซอร์วิสเซ็นเตอร์ วงเงิน 32.9 ล้านบาท ที่สามารถให้บริการข้อมูลรอบด้าน บริการที่ปรึกษาแนะนะ รวมถึงการฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ
5.โครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด(SME Provincial Champions) วงเงิน 87 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมเอสเอ็มอี เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดการจัดองค์ความรู้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาค โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการจาก 3 ประเภท คือ กลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการตลาด และกลุ่มที่ล้มลุกคลุกคลาน โดยจะเลือกจังหวัดละ 2 ราย รวม 144 รายนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการวินิจฉัยจุดอ่อนจุดแข็ง จัดทำการฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ฯลฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอี 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 309.7 ล้านบาท เป็นการพัฒนาตามระดับศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของเครือข่ายเอสเอ็มอี(คลัสเตอร์) ระดับพื้นที่จำนวน 54 เครือข่าย ให้มีความเข้มแข็งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมดำเนินการ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมประมง, กรมปศุสัตว์, กรมการข้าว, กรมหม่อนไหม, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย