เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพการทำสวนยาง ประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน และประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบยาง ได้แก่ ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางคอมปาวด์ น้ำยางสด รวมถึงไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ชาวสวนยางรายย่อยจึงได้รับผลกระทบจากราคายางที่ผันผวน การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่กระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคส่วน จะได้บูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบต้นแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประกอบกับในปี 2557/58 ชาวสวนยางไทยตลอดจนประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลก กำลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำ
ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และแนวคิดในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง เพื่อความอยู่รอด โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกร ให้อยู่รอดได้ด้วยความเข้มแข็งบนหลักการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้อาชีพการทำสวนยางมีความยั่งยืน
สำหรับไฮไลต์ของการจัดงานในปีนี้ คือการเสวนา "ฝ่าวิกฤติยางพารา พัฒนาสู่ความยั่งยืน" เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถาบันเกษตรกรทุกกลุ่ม เปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการแก้ปัญหายางตามนโยบายรัฐบาลตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอุปสรรค ข้อดี ข้อเสียอย่างไร เพื่อร่วมกันหาทางออกและข้อเสนอแนะสำหรับปรับปรุงแนวทางการพัฒนายางพาราของประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลต้องการนำไปใช้สำหรับวางนโยบายพัฒนายางพาราทั้งระบบของประเทศ ในปี 2558/59 ต่อไป