รมว.คลัง ไม่แปลกใจหลายสถาบันหั่น GDP ไทย ยันรัฐเร่งกระตุ้นศก.ทุกช่องทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2015 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่หลายสถาบันออกมาปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ลงว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนมองภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ใกล้เคียงกัน หลังจากที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมาต้องหยุดชะงัก แต่หวังว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
"หลักๆ ของเศรษฐกิจตอนนี้ขึ้นอยู่กับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมากกว่า แต่ของไทยมีปัจจัยพิเศษคือพื้นฐานเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปช่วงใหญ่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยไปในมุมที่คล้ายกัน" นายสมหมาย กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ซึ่งเป็นความพยายามของทุกกระทรวง รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเช่นกัน ซึ่งผลการเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมาก็น่าพอใจ เบิกจ่ายได้มากแต่ยอดไม่ขึ้น โดยดูจากตัวเลขในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก็สูงกว่าในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ด้วย

สำหรับแผนการกู้เงินเพื่อลงทุนด้านน้ำและถนน วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาทที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปพิจารณาแนวทางการกู้เงิน โดยเบื้องต้นจะเป็นการกู้เงินในประเทศ เพราะมีเงินอยู่มากแต่ไม่มีใครดึงออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ ในส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ... เห็นชอบให้มีการปรับแก้ไขร่างฯ ของรัฐบาล โดยให้มีการเริ่มจัดเก็บภาษีมรดกตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมเริ่มจัดเก็บที่ 50 ล้านบาทนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังยืนยันตามร่างเดิมอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการพิจารณามาเป็นอย่างดีแล้ว และได้มีการชี้แจงแนวคิดไปหมดแล้ว

ขณะที่อัตราการจัดเก็บภาษีมรดกยังเหมือนเดิม คือ ผู้สืบสันดาน ซึ่งหมายถึงลูก หลานจะเสียภาษีในอัตรา 5% ขณะที่ญาติ หรือคนนอก เช่น ลุง ป้า น้า อา เป็นต้น จะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% ตามร่างกฎหมายเดิม โดยอัตราการจัดเก็บดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว เพราะหากพิจารณาจากทั่วโลกที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกที่อัตรา 5% นี้ มีเพียง 1-2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งผมยอมให้มีการจัดเก็บในอัตราต่ำเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นคงยอมไม่ได้

ส่วนของเสนอของนายกรัฐมนตรีที่จะให้มีการจัดเก็บข้อมูลรายได้ของประชาชนใส่ไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนนั้น รมว.คลัง มองว่าเป็นแนวคิดที่ดี เป็นการดำเนินงานเชิงเทคนิคที่สามารถทำได้ หากเรามีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยเก็บข้อมูลบุคคล ผู้เสียภาษี ทำให้การหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากขึ้น แต่ในส่วนนี้ต้องไปคิดต่อถึงการเก็บข้อมูลรายจ่ายเข้าไปด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ