ขณะที่ทิศทางของค่าเงินบาทที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อต้นทุนการบริหารความเสี่ยงเงินของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า โดยค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร จึงส่งผลให้ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปต้องนำเข้าสินค้าจากไทยในราคาที่แพงขึ้น ขณะเดียวกันหากธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทิศทางของค่าเงินบาทที่แตกต่างกันในแต่ละสกุลเงินต่างประเทศนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าของไทยต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน
โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 228 อยู่ที่ 17,229.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงอีก 6.1% ด้านการนำเข้ากลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.5% อยู่ที่ 16,839.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นั้นลดลงอีก 15.1%, 11.7% และ 5.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนยังหดตัวกว่า 8.3% เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ตกต่ำ ถึงแม้ว่าตลาด CLMV จะสามารถขยายตัวได้ราว 7%ในเดือนกุมภาพันธ์ก็ตาม
อย่างไรก็ดีมีเพียงการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯที่สามารถขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.1%ในเดือนกุมภาพันธ์ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัว ซึ่งในปี 2558 นี้อาจมีเพียงตลาดสหรัฐฯ และตลาด CLMV ที่ช่วยพยุงการส่งออกของไทย