นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงเรื่องของการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนที่ยังมีไม่มาก เพราะรอความหวังของการลงทุนภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐยังลงทุนได้ไม่เร็วตามคาดการณ์
แต่สิ่งที่จะเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวอย่างระมัดระวัง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางการเมือง โดยในช่วงเดือน ส.ค.นี้จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่ขั้นตอนกรพิจารณาของสภาปฎิรูปแห่งชาติที่จะลงคะแนนเสียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างฯดังกล่าว
"คาดว่าระหว่างนั้นการเมืองจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจจะกดดันภาคเศรษฐกิจไทย และหลังจากนั้นจะเกิดการคาดการณ์ของการเลือกตั้งใหม่"นายศุภวุฒิ กล่าว
ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)และกรรมการสมาคมนักวิเคราะห์ฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากสหรัฐยังไม่สามรถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แม้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้น เช่น อัตราการว่างงานที่มีการปรับตัวลดลงมาเหลือเพียง 5.5% จากประมาณ 10% ขณะที่ยุโรปก็ยังมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่ม
ส่วนประเทศไทย มองว่าแม้จะมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยับกลับขึ้นมาในระดับศักยภาพของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และจะดีขึ้นในปี 59 ขณะที่ปีนี้ GDP ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3% สะท้อนไปที่การเติบโตของบริษทจดทะเบียนไทยด้วย
"GDP ไทยที่สุดแล้วมันจะกลับมา การเมืองในที่สุดแล้วก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญ และ GDP โลกยุโรปจะกลับมาจากการดำเนินการ QE เสร็จสิ้น เชื่อว่าตราสารหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะให้ความหวังในการให้รีเทิร์น"นายสมบัติ กล่าว
ดังนั้น ในช่วงนี้แนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก และการทยอยซื้อตามระดับราคาของการลงทุนระยะยาว
ขณะที่นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนของเอเชีย โดยเฉพาะไทย อย่างมีนัยสำคัญ ในระยะ 1 ปีจากนี้จะเป็นการทำ QE ของประเทศยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนขณะนี้ที่เกิดภาวะซบเซาของตลาดหุ้นไทยนั้น มองว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยภายในของไทยเอง ส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมาพอสมควรในระยะสั้นนี้
นอกจากนี้ มองกระแสเงินทุนไหลเข้าจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยสัดส่วนการลงทุนเดิม 70-80% จะไปอยู่ในตราสารหนี้ และตราสารทุนจะเหลือเพียง 30-20% หลังจากนี้จะกลับกัน เชื่อว่าจะมีการลงทุนในตราสารทุนมากขึ้น จากในอนาคตจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศ ขณะที่ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนที่น้อยมาก โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงบนสภาพการณ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำที่น่าจะอยู่ในระยะยาว
สำหรับการลงทุนเชื่อว่าในอีกระยะ 5-10 ปี มองว่ากองทุนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี และสถาบันทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถรักษาการทำกำไรอยู่ในระดับที่ดี รวมถึงวัสดุ-ก่อสร้าง ดิจิตัล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะเป็น Secter ที่น่าสนใจ
ส่วนนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนจะมีการเติบโตจากปี 56 ราว 30% บนพื้นฐานเศรษฐกิจจะสามารถเติบโต (GDP) ราว 3.5%
"ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราปรับลดประมาณการการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนลงมาแล้ว 1 ครั้ง เราก็มองว่าปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วคงจะไม่ปรับลดลงอีกเพราะตอนนี้คงเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว"นายสุกิจ กล่าว
สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวน และปรับตัวลดลงมานั้น มองว่าเป็นผลมาจากการปรับพอร์ตของนักลงทุน ตามผลประกอบการ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้การปรับตัวลดลงมองว่าคงจะเป็นการปรับตัวลดลงตามปัจจัยภายนอก โดยเฉพราะในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะมีความกังวลเป็นระยะๆจนกว่าจะมีการปรับขึ้นจริง
นายสุกิจ กล่าวต่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มเป็นขาลงอยู่จนกว่าปัจจัยพื้นฐานในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น อาทิเช่นโครงการต่างๆของภาครัฐฯต้องเกิดขึ้นและมีเงินเข้าระบบจริงๆ
"เรามองว่าตลาดยังคงจะผันผวนอยู่ในช่วงขาลงต่อไป ด้วยความกังวลในเรื่องของปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก จนกว่าปัจจัยพื้นฐานในประเทศจะเข้ามารองรับ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนต้องออกมาดีและดีกว่าคาด จึงจะเห็นตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ สำหรับเงินทุนต่างชาติปัจจุบันส่วนใหญ่ไหลไปยังยุโรปเป็นหลัก ยังไม่ไหลเข้ามาถึงภูมิภาคของเรา"นายสุกิจ กล่าว