ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาต้องการสินค้าสูงสุด โดยในช่วงที่ผ่านมาเยอรมนีมียอดขายสูงถึง 169,791 ล้านเหรียญยูโร และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 0.77 ในระยะเวลา 5 ปี และสหรัฐอเมริกามียอดขายสูงถึง 748,712 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 2.18 ในระยะเวลา 5 ปี ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการมาที่สุดในสองประเทศนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทขนมคบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป ผักอบกรอบแต่งกลิ่นเฉพาะ และผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสแบบไทย เช่น ซอสพริก ซอยปรุงรส และน้ำจิ้มไก่ และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น ชาสมุนไพร ชาผลไม้ เครื่องดื่มชงสำเร็จรูป
ด้านแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น ผู้ประกอบการต้องประยุกต์เอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การคิดค้นกลิ่นและรสชาติใหม่ๆ การสร้างจุดขายโดยการใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ใช้ผักออร์แกนิคเป็นส่วนประกอบ และการปรับปรุงรสชาติอาหารโดยลดความหวาน มัน เค็ม และไขมันลง ตามเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ในแง่ของบรรจุภัณฑ์นอกจากต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยสวยงามสะดุดตาแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องปรับลดขนาดและปริมาณให้สอดรับกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง พร้อมทั้งมีเรื่องเล่าบอกที่มาของผลิตภัณฑ์และข้อมูลคุณค่าโภชนาการ ที่สำคัญต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP, HACCP, FDA, IFOAM เป็นต้น
สำหรับกลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าสูงสุด โดยมียอดขายในช่วงที่ผ่านมาสูงถึง 9,066 ล้านเยน และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 0.68 ในระยะเวลา 5 ปี โดยเหตุผลหลักที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ที่ผลิตจากประเทศไทย เนื่องจากมีคุณภาพดีและดีไซน์สวยงาม ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ให้มีทั้งความสวยงาม ความคงทน และฟังชั่นการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย โดยเน้นเอาวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการลดใช้พลังงานมากขึ้น
ขณะที่ กลุ่มผ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ จากข้อมูลพยากรณ์การเติบโตของยอดขายในช่วงปี 2556-2561 จาก Euromonitor พบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 2.28 ซึ่งกระบวนการสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ผู้ประกอบการต้องเริ่มจากการพัฒนาการออกแบบให้มีความโดดเด่นและทันสมัย โดยประยุกต์เอาวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตเข้าไปสร้างจุดเด่น แต่ยังคงความประณีตเรียบร้อย เน้นผลิตสินค้าเป็นล็อตเล็กๆ แต่มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ นอกจากนี้ในแง่ของวัสดุก็ต้องมีความคงทนแข็งแรงใช้งานได้นาน ที่สำคัญต้องมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเพราะเป็นที่ชื่นชอบของคนสิงคโปร์
"ปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP มียอดจำหน่ายรวมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สูงถึงปีละประมาณ 80,000 ล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากสถานการณ์การส่งออกของประเทศที่ประสบปัญหาติดลบถึง 6% ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและความแปลกใหม่สวยงามจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการผลักดันธุรกิจ OTOP ไทย ให้สามารถเข้าไปตีตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน" นายอารยะ กล่าว