“โครงการลงทุนคมนาคมพื้นฐาน 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาลครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ทั้งการลงทุน การจ้างงาน การขนส่งสินค้าทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งแก้ปัญหาการจราจรทั้งกรุงเทพมหานคร และเชื่อมโครงข่ายเส้นทางทั่วประเทศไทย"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
แผนงานดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง อาทิ โครงการรถไฟรางคู่
2.การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกทม.และปริมณฑล อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การจัดซื้อรถโดยสารประจำทองเชื้อเพลิง NGV 3,183 คัน การสร้างถนน สะพานในกทม.และปริมณฑล
3.การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสนับสนุนการเกษตรและการท่องเที่ยว (Royal Coast) โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ
4.การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ อาทิ ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ท่าเรือจังหวัดอ่างทอง ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่(Cruise) จังหวัดกระบี่ และเกาะสมุย ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และ
5.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต แม่สอด และโครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จ.ยะลา ในส่วนของการจัดหาวงเงินลงทุนนั้น รัฐบาลมีนโยบายรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ พร้อมเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง ซึ่งในส่วนของวงเงินลงทุนจะมาจาก 4 แหล่ง คือ งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล จำนวน 5.4 แสนล้านบาท , แผนบริหารหนี้สาธารณะ 9.86 แสนล้านบาท , เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ 8.5 หมื่นล้านบาท และ การร่วมทุนภาคเอกชน (PPP) อีก 2.98 แสนล้านบาท
“แผนการลงทุนครั้งนี้จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนของระบบโลจีสติกส์ของประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 14.4% จะเหลือ 2% ในปี 70 สัดส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล จะลดลงจากปัจจุบัน 59% เหลือ 40% ในปี 70 ลดความสูญเสียการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และระบบราง ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้า และรถโดยสารจะเพิ่มขิ้น มีการเชื่อมต่อโครงข่ายถนนกับอาเซียน ทำให้ปริมาณการค้าชายแดนสูงขึ้น และสนามบินพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศได้มากขึ้น จากปัจจุบัน อยู่ที่ 63 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคนต่อปี ในปี 2559 รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมกันนั้น ที่ประชุม ครม.สัญจรยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 58 (Action Plan) ทั้งสิ้น59 โครงการ คิดเป็นกรอบวงเงินลงทุนมูลค่า 847,672.40 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงข่ายคมนาคมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล โครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางและขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ตาม Action Plan ครั้งนี้จะเป็นเงินลงทุนที่มีแหล่งเงินรองรับและพร้อมดำเนินการได้ทันทีในปีนี้ จำนวน 55,986.64 ล้านบาท กรอบวงเงินส่วนที่เหลือนั้นจะเป็นวงเงินลงทุนลักษณะผูกพันข้ามปี ตั้งแต่ปี 59-65 ที่หน่วยงานรับผิดชอบจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลเริ่มดำเนินการตาม Action Plan โครงสร้างพื้นฐานปีนี้ 59 โครงการ ซึ่งหลายโครงการมีการก่อสร้างคืบหน้าไปมาก ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการประกวดราคา การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการออกแบบ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเห็นเป็นรูปธรรมในปี 58
สำหรับโครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ ดำเนินการแล้วมีระยะทางรวม 164กิโลเมตร , การบูรณะบำรุงรักษาทางหลวง979 กิโลเมตร , ก่อสร้างทางหลวงเพื่อสนับสนุนการเกษตรและท่องเที่ยว 931กิโลเมตร ประกวดราคารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน4 เส้นทาง อาทิ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต , รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
ส่วนรถไฟทางคู่ในระยะเร่งด่วน ได้ดำเนินการแล้ว 2 เส้นทาง คือชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และเส้นทางประจวบคีรีขันธุ์- ชุมพร , การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด , การศึกษาความเหมาะสมก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในเมืองชายแดนและเมืองหลัก , รับมอบรถโดยสารประจำทาง NGV จำนวน 489 คัน การสร้างความปลอดภัยระบบจราจรทั่วประเทศ จุดตัดทางรถไฟ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและลานจอดอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญพิเศษ ในการเดินหน้าตาม Action Plan คือต้องมี "สัญญาคุณธรรม"เป็นสัญญาที่ทำขึ้นควบคู่กับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ลงนามมี 3ฝ่ายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ และตัวแทนองค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นภาคประชาชน โดยให้มีผลในเชิงกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตามด้วยความโปร่งใสหรือให้สังคมตรวจสอบได้ ก็จะถือว่าต้องมีโทษ
"สัญญาคุณธรรมนี้ได้นำร่องไปแล้วใน 2โครงการ คือโครงการจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย โดยหลังจากนี้หากโครงการลงทุนใดที่พร้อมจะลงนามทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ก็ให้ยึดถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ โดยทุกฝ่ายส่งตัวแทนเข้าร่วมลงนามในสัญญาคุณธรรม ถ้าภาคประชาชนเกิดความสงสัยโครงการใด ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันที เพื่อสร้างความโปร่งใส"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว