โรงงานดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,084 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานพาหนะที่สำคัญ 2 ประเภท ได้แก่ การผลิตขั้วต่อ(Terminal) ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อวงจรและสายสัญญาณ และการผลิตขั้วต่อสัญญาณ(Header/Connector)โดยมีแผนจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกสูงถึง 80% ไปยังลูกค้าที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน ยุโรป และอเมริกา ขณะที่บางส่วนจะจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ ตามแผนงานของบริษัทจะมีการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ อาทิ เม็ดพลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จากผู้ผลิตในประเทศไทย โดย การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในการผลิตรถยนต์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคนิคการผลิตซับซ้อน และต้องใช้ทักษะ รวมถึงสินค้าบางชนิดต้องมีความแม่นยำ นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมายของบีโอไอในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
"การลงทุนของบริษัทครั้งนี้นอกจากจะตอกย้ำถึงศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแล้ว ยังจะส่งผลทำให้เกิดการจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกันจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องรายอื่นได้เห็นถึงทิศทางความน่าสนใจในอุตสาหกรรมดังกล่าว ใช้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอนาคต"น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
ด้านนายสตีฟ เมิร์ก ประธานบริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้(ทรานสปอตเทชั่น โซลูชั่น) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนในไทย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอาเซียนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีการลงทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรายสำคัญจำนวนมาก การตั้งฐานผลิตในไทยทำให้บริษัทสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงป้อนลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างลงตัว
สำหรับบริษัทบริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง(ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 56 โดยจะมีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานพาหนะ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีกำลังการผลิต ขั้วต่อ และขั้วต่อสัญญาณ กำลังผลิตปีละกว่า 1 พันล้านชิ้น