“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังคงมีสัญญาณการชะลอตัวทั้งจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูง และภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
ด้านการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ส่งสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี โดยภาพรวมยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปีตามการหดตัวของการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 68.4 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการทรงตัวในระดับต่ำของราคาพืชผลทางการเกษตร
อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มส่งสัญญาณบวกกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 32.5 ต่อปี ซึ่งมาจากการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้ารองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ และนาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี จากการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นสำคัญที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี สำหรับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการรับมรดก โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.4 ต่อปีแต่หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี มีสัญญาณดีขึ้นบ้างจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 8.5 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 149.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เบิกจ่ายได้จำนวน 150.4 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี
สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยหดตัวที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตร แร่และเชื้อเพลิง ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตร โดยตลาดส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 เป็นหลัก
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถขยายตัวในระดับสูงเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลเบื้องต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 2.69 ล้านคนขยายตัวร้อยละ 29.6 ต่อปี และในช่วง 13 วันแรกของเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวน 1.10 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 27.6 ต่อปี สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ สำหรับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 22 เดือน ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 88.9 จากความกังวลต่อสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอการใช้จ่าย และคำสั่งซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอโดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี และ -1.3 ต่อเดือน ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก และยางพารา เป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.16 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 156.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้