รมว.คมนาคม ลงนามตั้งคกก. 2 ชุด แก้ปัญหาผลกระทบ ICAO เริ่ม 1 เม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2015 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1. คณะกรรมการอำนวยการ แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยมี รมว.คมนาคมเป็นประธาน และ รมช.คมนาคม เป็นรองประธาน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ดูภาพรวมทั้งหมด พร้อมทั้งรายงานต่อนายกรัฐมนตรีทราบทุกสัปดาห์ และรายงานผลต่อ ICAO ทุก 15 วัน

พร้อมทั้งส่งข้อมูลไปยังสถานทูตทั่วโลกที่มีสายการบินของประเทศไทยทำการบินไป เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมเป็นเครือข่ายในการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ควบคุมด้านการบินของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยผ่อนคลายและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พร้อมกันนี้จะส่งทีมงานของกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน(บพ.) และสายการบินต่างๆ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ โดยได้ไปชี้แจงที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา และต่อไปจะไปที่เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลียและเยอรมนี

2. คณะกรรมการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ของ ICAO มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงาน ประสานงานในทุกด้านที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ทั้งการปรับโครงสร้างใหม่ โดยแยกด้านนโยบาย(Policy) มาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม แยกหน่วยงานกำกับดูแล(Regulator) ออกมาตั้งเป็นสถาบันการพลเรือนแห่งชาติ ส่วน บพ.จะตั้งกรมขนส่งทางอากาศ เพื่อแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน และดำเนินการแก้ไขกฎหมาย การบรรจุอัตรากำลังคน และงบประมาณ การฝึกอบรม และระบบดาต้าเบสให้ทันสมัยควบคู่ไปด้วย

"วันที่ 1 เม.ย. คณะกรรมการจะเริ่มทำงาน เป็นการบูรณาการทำงานตามที่นายกฯ มอบหมาย ให้แผนงานแก้ปัญหาและรายงานต่อนายกฯ เพื่อให้ได้สั่งการแก้ปัญหาตามมาตรา 44 เพื่อให้ไม่ต้องเข้ากระบวนการระบบปกติที่ต้องใช้เวลาเป็นปี เหลือประมาณ 45 วัน-60 วัน พร้อมกันนี้จะเร่งยกระดับเป็นกรรมการระดับชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งต่อไป ส่วนการปรับปรุงแผนใหม่ นั้นจะรายงานความคืบหน้าต่อ ICAO ภายในวันที่ 5-7 เม.ย.นี้ ว่าไทยได้ดำเนินการอะไรบ้าง ปรับจากแผนเดิมอย่างไร ซึ่งบางหัวข้อเสร็จภายใน 2 สัปดาห์บ้าง ภายใน 6 เดือนบ้าง หรือเสร็จในปีครึ่ง เช่นการปรับโครงสร้าง และใน 2 ปีช้าสุด แต่แผนใหม่จะชัดเจนว่าขึ้นว่าจะแก้ไขเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน และที่เหลือทุกกรณีจะต้องจบภายใน 8 เดือน" รมว.คมนาคม กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรการบินของญี่ปุ่น หรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB)ได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการมายังกรมการบินพลเรือนของไทยว่า ได้รับแจ้งจาก ICAO ว่า บพ.ของไทยติดเรื่องข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) จึงขอให้ระงับการบินเพิ่มหรือเปิดเส้นทางใหม่ เปลี่ยนแปลงเส้นทาง เปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบิน นับจากวันที่ 24 มี.ค.

ส่วนเกาหลีใต้และจีนนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งเป็นทางการมาที่บพ. แต่ติดต่อไปที่สายการบินที่ทำการขอเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดเส้นทางบิน ทั้งเช่าเหมาลำและแบบประจำว่าไม่อนุญาต ซึ่งจะต้องประสานไปในระดับกรมการบินของประเทศ ซึ่งต้องแก้ปัญหาเช่าเหมาที่มีการขายตั๋วไปแล้ว จะประสานงานทั้งการใช้เครื่องบินประจำและเครื่องบินจากต่างประเทศ มาช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เราทำได้แค่ประสานงาน

นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ชี้แจงรายละเอียดการแก้ไขปัญหาและความตั้งใจจริงของไทย ซึ่งญี่ปุ่นรับทราบและแจ้งว่าจะพยายามหาทางบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ขอให้ไทยอย่าคาดหวังมาก เนื่องจากตามกฎหมายของญี่ปุ่นเมื่อประเทศใดมี SCC จากการตรวจสอบของ ICAO จะไม่มีการพิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน เปลี่ยนแบบเครื่องบิน หรือเพิ่มเส้นทางบินใหม่ได้ ซึ่งญี่ปุ่นเคยปฎิบัติกับอินเดียและฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นและไทยมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และนักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทางจำนวนมาก จึงจะพิจารณาอย่างยืดหยุ่นมากกว่ากรณีอื่นๆ ซึ่งญี่ปุ่นต้องดำเนินการให้ประชาชนญี่ปุ่นมั่นใจว่าสายการบินของไทยมีความปลอดภัย จึงต้องเตรียมการเป็นพิเศษ โดยเพาะแผนการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยและการดำเนินการของสายการบิน โดยสายการบินประจำในเส้นทางปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีข้อมูลแล้ว แต่สำหรับสายการบินใหม่ที่จะขอทำการบินแบบประจำและไม่ประจำ จะพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัย ซึ่งต้องขอเวลาพิจารณาภายใน เพื่อตอบคำถามต่อสาธารณชนได้

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า สายการบินที่กระทบจากมาตรการของญี่ปุ่น คือ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ 3 สายการบินช่วงเม.ย.รวมประมาณ 300 เที่ยวบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโดตลอดทั้งฤดู (มี.ค.-ก.ย.) ประมาณ 100 กว่าเที่ยวบิน, สายการบินนกสกู๊ต ช่วงเม.ย. และสายการบินเอเชีย แอตแลนติก 27 เที่ยวบิน โดยได้พยายามโอนผู้โดยสารที่จองตั๋วแล้วไปสายการบินประจำ

ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีสายการบินเช่าเหมาลำ มี 2 สายการบินคือ สายการบินนกสกู๊ต และสายการบินเอเชีย แอตแลนติก มี 35 เที่ยวบิน ประมาณ 7,000 คน ส่วนประเทศจีน มีสายการบินแบบเช่าเหมาลำ 3 สายการบิน รวมประมาณ 300 เที่ยวบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย, โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ และสกายวิวแอร์เวย์ โดยในวันที่ 3 เม.ย.นี้จะเดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อชี้แจง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ