โดยทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปลดภาระหนี้สินให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุจากการเสียชีวิต, ทุพพลภาพ, เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ รวม 28,000 คน ยอดหนี้รวม 4,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปลดหนี้และจำหน่ายหนี้ออกจากบัญชีให้เป็นหนี้สูญ
2.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรที่มีศักยภาพต่ำ ซึ่งยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตและจำเป็น รวม 340,000 คน ยอดหนี้รวม 48,000 ล้านบาท โดยให้ชำระเงินต้นตามงวดที่ตกลงกัน แต่ไม่เกิน 10 ปี และปลอดชำระเงินต้นใน 3 ปีแรก แต่ ธ.ก.ส.ยังคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ โดยหลังจากชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้ตามกำหนดแล้ว ธ.ก.ส.ยังร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้เพื่อการประกอบอาชีพอื่นอีกวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ
และ 3.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหายางพาราตกต่ำ หรือการงดทำนาปรัง รวม 450,000 คน ยอดหนี้รวม 64,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะขยายเวลาชำระหนี้ให้ตามศักยภาพ คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ แต่ไม่คิดเบี้ยปรับ พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน หรือประกอบอาชีพเสริมอื่นอีก วงเงิน 35,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย
รมช.คลัง กล่าวว่า โครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยดังกล่าวไม่ได้เป็นการบ่มเพาะนิสัยการสร้างหนี้แล้วยกหนี้ให้โดยง่าย แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่สุจริตและเกิดจากความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลจะให้ความระมัดระวังกับเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ