"ภาระหนี้สินต่อเดือน แรงงานส่วนใหญ่เป็นหนี้สินอื่น 38% รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร 23.20% และหนี้นอกระบบ 22.73% หนี้บัตรเครดิต 16%" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
ประธาน คสรท.กล่าวว่า แรงงานที่สำรวจส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ ฯลฯ อายุระหว่าง 20 – 39 ปี ร้อยละ 82.2 ซึ่งพบว่าส่วนมากมีภาระเลี้ยงดูบุคคลอื่นที่ไม่มีรายได้ เช่น บิดา มารดา และพบแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึง 30.93%
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างในเดือน ต.ค.นี้ โดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 360 บาท/วันทั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่าค่าครองชีพทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอข้อมูลต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน และรัฐบาล เพื่อใช้พิจารณาในการปรับค่าจ้างต่อไป
ประธาน คสรท.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเสนอขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 460 บาท/วัน โดยรวมค่าใช้จ่ายในทุกๆ ด้านของแรงงาน แต่ในปีนี้ที่เสนอ 360 บาท/วัน ได้ตัดค่าเช่าบ้านและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าผ่อนสินค้า ค่ารักษาพยาบาลออก จึงทำให้ตัวเลขลดต่ำลง ดังนั้นอัตราที่เสนอในครั้งนี้จึงถือว่ามีแต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะไม่ได้อยากเรียกร้องในอัตราสูงมากจนนายจ้างรับไม่ได้ นอกจากนี้ขอให้รัฐจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน และสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานเกิน 1 ปี ให้มีการปรับค่าจ้าง