ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก แม้สถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยยังกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับปัจจัยลบมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปี 58 เหลือ 3.8% จากเดิม 4%, ส่งออกในเดือน ก.พ.ลดลง 6.15%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง และกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.75% และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนในไตรมาส 2 ยังฟื้นตัวไม่มากนัก การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่
"ช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของระบบเศรษฐกิจ รัฐต้องสานความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชน โดยคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีโต 3.0-3.5%"
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มานักในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพารายังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
"กลุ่มตัวอย่างที่ตอบจะตอบมาด้วยอาการที่ท้อแท้มากขึ้นเป็นลำดับ สิ่งสำคัญคือราคาสินค้าเกษตรไม่สามารถกระเตื้องขึ้น ข้อมูลข่าวสารในเชิงลบ ทั้งการส่งออกไม่ดี การต้องชำระภาษีต่างๆ ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมรดก แต่โชคดีที่รัฐบาลชะลอออกไป นอกจากนี้สถาบันต่างๆ ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง 3 เดือนติด จึงเป็นสัญญาณที่ไม่ดีในเชิงเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ ระบุ
โดยสิ่งที่ยังน่ากังวล คือ 1.ค่าครองชีพ ดูจากดัชนีค่าครองชีพทียังปรับตัวลดลง 2.ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง ที่ดัชนีความเห็นเกี่ยวกับการเมืองปรับตัวลดลง และเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่มีค่าต่ำกว่า 100 ที่เป็นค่าปกติ และ 3.การซื้อสินค้าคงทนถาวร เช่น รถยนต์ บ้าน ตลอดจนการท่องเที่ยว มีสัญญาณลดลงต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามเร่งทำเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ผ่าน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และงบลงทุน 2.การสร้างความเชื่อมั่นในเชิงบวกผ่านการหารือกับกับภาคธุรกิจ และการประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึก 3.การชะลอเรื่องการพิจารณาจัดเก็บภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.การให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการใช้จ่ายของประชาชนในระดับฐานราก
"การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในช่วงที่การส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน โดยศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เด่นชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมจะแถลงปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 58 ใหม่อีกครั้งวันที่ 16 เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นจะปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือ 3-3.5% จากเดิม 3.5-4% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะเติบโต 2.5-3% ส่วนครึ่งปีหลังเติบโตได้ 4% สำหรับการส่งออกปีนี้อาจจะลดลงมาเหลือเพียง 0-1% จากเดิมที่คาดไว้ 1-2% พร้อมมองว่าหากมีการบริหารให้เงินบาทไปอยู่ใกล้เคียงระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ได้ ก็จะช่วยหนุนการส่งออกไทยได้ดีขึ้น
ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงพิจารณาอย่างต่อเนื่องว่าถ้าเศรษฐกิจมีสัญญาณขับเคลื่อนได้แล้ว การลดดอกเบี้ยคงไม่จำเป็น แต่หากเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณฟื้นในไตรมาสที่ 2 การลดดอกเบี้ยยังอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเห็นว่าควรจำทำในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3
"เรามองว่าไตรมาส 2 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจจะฟื้น เช่น การชะลอภาษี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ, การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการขอสินเชื่อเพื่อไปลงทุนในระบบเสรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายของรัฐถือเป็นกลไกที่ดี แต่ก็ยังไม่ชัดว่าจะทำได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ไม่เด่น ถ้าไตรมาส 2 ไม่มีสัญญาณดีขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจถือว่าตอบสนองในเชิงบวก เพราะหลายคนอาจเห็นว่ากฎอัยการศึกมีส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งการยกเลิกกฎอัยการศึกจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความมั่นใจในการเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น
"กระแสวิจารณ์ในเชิงลบไม่มีอะไรรุนแรง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สื่อต่างประเทศไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์มาก ทุกคนคงรอดูว่าการใช้มาตรา 44 นี้จะเป็นการเอื้อให้การเมืองอยู่ในเสถียรภาพมากขึ้น เข้าไปสู่กรอบของโรดแมปมากขึ้นหรือไม่ คนคงมองเสถียรภาพการเมืองระยะยาวของไทยว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ดังนั้นมาตรา 44 ในเชิงเศรษฐกิจ น่าจะต่อผลในเชิงบวก ส่วนเชิงการเมืองยังมีความเห็นหลากหลาย แต่รัฐบาลมั่นใจว่าการใช้มาตรานี้น่าจะเอื้อต่อเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสำคัญด้วย" นายธนวรรธน์ ระบุ