วิจัยกสิกรไทยคาดสงกรานต์ปี58 คนกรุงจับจ่ายใช้สอยสะพัดราว2.28หมื่น ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 4, 2015 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ เม็ดเงินสะพัดภายในประเทศสำหรับการจับจ่ายใช้สอยจะอยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ถูกกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 11,500 ล้านบาท ช็อปปิ้ง (ซื้อของขวัญ/ของฝาก) 4,600 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 3,100 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 3,100 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ดูหนัง/ฟังเพลง ซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ 500 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะอยู่ในส่วนของการเลี้ยงสังสรรค์ การทำบุญไหว้พระและกิจกรรมอื่นๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ค่าช็อปปิ้งและค่าเดินทาง/ ที่พัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าในปีนี้เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้โดยเฉพาะค่าเดินทางจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ (แก๊สโซฮอล 91/95) ที่ลดลงเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถประหยัดค่าเดินทางได้ประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อน

ทั้งนี้ คนกรุงฯ เลือกซื้อสินค้าประเภทอาหาร/ ขนม/ สินค้า OTOP เป็นของขวัญของฝาก ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากที่สุด ถึงร้อยละ 59.0 เนื่องจากเป็นสินค้าที่สะดวกในการซื้อหา เพราะสามารถเลือกซื้อได้ทุกที่ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายของที่ระลึก หรือร้านค้าทั่วไประหว่างการเดินทาง อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งราคาและรูปแบบ เหมาะเป็นของฝากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รองลงมาคือ กลุ่มเครื่องแต่งกาย อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ (ร้อยละ 20) สินค้า Gift Shop ประเภทต่างๆ (ร้อยละ 18) ตามลำดับ ส่งผลให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ในท้องถิ่น มากขึ้น

สำหรับสิ่งจูงใจ ให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น จากผลการสำรวจพบว่า กลยุทธ์หรือกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชอบและให้ความสนใจมากที่สุดยังคงหนีไม่พ้นกิจกรรมลด แลก แจก แถม (ร้อยละ 91) รองลงมา คือ การจัดโซนถ่ายรูปภายในร้าน เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาแวะซื้อสินค้าและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก (ร้อยละ 81) ซึ่งกิจกรรมนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมสูงในหมู่วัยรุ่นวัยทำงาน ที่ต้องการแชร์ภาพถ่ายแก่เพื่อนฝูงใน Social Media ในขณะที่ช่องทางในการทำโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น พบว่า สื่อโทรทัศน์ (ช่องฟรีทีวี/เคเบิ้ลทีวี) ยังคงเป็นช่องทางที่คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 รองลงมา ได้แก่ การทำการตลาดผ่าน Social Media อย่าง Facebook (ร้อยละ 66) ที่ถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญในโลกการค้ายุคใหม่ ที่จะนำเสนอสินค้าและบริการไปสู่ลูกค้าปลายทางได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากผู้ประกอบการมีการจัดสรรงบประมาณการตลาดมาใช้ในการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายหรือสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในช่วงนี้มากพอสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ