IMF ประเมินศก.ไทยปี 58 คาดโต 3.7% ชี้นโยบายการเงินผ่อนปรนหนุนศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2015 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Executive Board of the International Monetary Fund) ได้ประชุมสรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2558 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากที่หดตัวในไตรมาสแรกของปี 2557 ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.7 สำหรับอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และเริ่มติดลบในเดือนมกราคม 2558 จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวที่ประมาณร้อยละ 1.7 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สรอ. โดยรวมในปี 2557 มีเสถียรภาพ แต่ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (real effective exchange rate) ปรับแข็งขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.8 ต่อ GDP ปรับดีขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบร้อยละ 0.6 ต่อ GDP เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากและการนำเข้าที่ลดลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่ออนแอ

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2558 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.7ตามการฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับอานิสงค์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐทำได้ล่าช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะปรับดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่โดยเฉลี่ยต่ำกว่าปี 2557 เป็นอย่างมาก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ โดยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างในช่วงปลายปี

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของนโยบายภาครัฐ อุปสงค์ภาคเอกชนที่อ่อนแอกว่าคาด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ในขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ได้แก่ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านบวกจะมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่อาจได้รับผลดีมากกว่าที่คาดไว้จากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก

ทั้งนี้ ทางการมีความตั้งใจที่จะดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ การปฏิรูปราคาพลังงาน การทดแทนนโยบายจำนำข้าวด้วยมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนารายย่อย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการขยายบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) นอกจากนี้ทางการได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) บริเวณชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Board of Investment) ประกาศแผนกลยุทธ์สนับสนุนการลงทุนใหม่ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย

สำหรับผลการประเมินของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวหลังจากเผชิญปัจจัยลบ (adverse shocks) ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ (prudent macroeconomic management) อย่างไรก็ดี ช่องว่างระหว่างผลผลิตเมื่อเทียบกับศักยภาพ (output gap) ยังทยอยลดลงอย่างช้าๆ และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด ดังนั้น นโยบายการคลังและนโยบายการเงินจึงยังคงมีความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไป ในขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเข้มแข็งและกระจายการเติบโตไปได้อย่างทั่วถึง (inclusive growth) ในระยะยาว

คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบนโยบายการรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง อีกทั้งเห็นด้วยกับการปฏิรูปมาตรการอุดหนุนต่างๆ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง (targeted and means-tested support) แทนการอุดหนุนในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา เช่นในกรณีโครงการรับจำนำข้าว และการอุดหนุนราคาพลังงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการคลัง(fiscal responsibility law) ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบวินัยทางการคลังในระยะปานกลาง การทบทวนแผนกลยุทธในการบริหารระบบรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดทำแผนการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และอาจสามารถพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติมได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเสถียรภาพการเงินด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) โดยเห็นว่าในปัจจุบันเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมาย และการเคลื่อนไหวของระดับราคาล่าสุดยังไม่สะท้อนว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

ทั้งนี้ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกเป็นความท้าทายสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นด้วยว่าไทยยังคงมีเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถจะนำมาใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจอาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนมาก และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรองรับความผันผวนในตลาดการเงินได้เป็นอย่างดี

คณะกรรมการฯ ยินดีกับความคืบหน้าในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแล SFIs อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าทางการไทยควรเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbank financial institutions) เช่น สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ