ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือนมีนาคม ลดลง 2,277 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากธนาคารได้มีการขายทรัพย์กองกรุงเทพฯและปริมณฑล และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร รวมเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารมีการประนอมหนี้กับลูกค้าได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2558 ยอด NPLs ของธนาคารลดเหลือ 28,623 ล้านบาท (คิดเป็น 33.63%ของยอดเงินให้สินเชื่อรวม) ซึ่งดีกว่าเป้า NPLs ตามแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดไว้ 29,881 ล้านบาท
ด้านสินเชื่อ เดือนมีนาคม 2558 สามารถเบิกจ่ายทำสถิติได้สูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยสามารถทำได้สูงถึง 3,907 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับปรุงระบบงานเริ่มปฎิบัติได้จริง และมีแนวโน้มทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ยอดเบิกจ่ายรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2558 เท่ากับ 8,379 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคิดเป็นจำนวนลูกค้าใหม่ประมาณ 4,012 ราย และทั้งหมดเป็นสินเชื่อรายย่อยวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 85,101 ล้านบาท และธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยเงินกู้ใหม่ได้ถึงเป้า 40,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ปี 2558
นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) กล่าวว่า ในด้านธรรมาภิบาล ธนาคารมีเรื่องสอบสวนทั้งสิ้น 19 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 เรื่อง โดยในเดือนมีนาคมได้มีข้อยุติ 1 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำผิดวินัยร้ายแรงของพนักงานในระดับผู้อำนวยการ 1 คน และผู้จัดการส่วน 1 คน ทำให้ธนาคารต้องจ่ายเงินมากเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการวินัยพิจารณาโทษต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ธนาคารยังคงเน้นเรื่องธรรมาภิบาล โดยมีการสอบสวนเพิ่มอีก 4 เรื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 รวมเรื่องที่สอบสวน 23 เรื่อง นอกจากนั้น ธนาคารชนะคดีที่ฟ้องร้องกับบุคคลภายนอกกรณีพิพาทเรื่อง Core Banking ซึ่งธนาคารจะได้เงินคืนจากคู่กรณีเป็นจำนวนเงิน 46 ล้านบาท และชนะคดีแรงงานที่พบการทุจริตของพนักงาน 1 คดี ซึ่งศาลสั่งให้มีการชำระเงินให้ธนาคาร 19 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Loan Policy) 4% นั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอเข้า ครม. และสำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติค้างชำระและติดเครดิตบูโรนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ได้เป็นตัวกลางเจรจากับทางสมาคมธนาคารไทย ขอให้ช่วยชะลอการฟ้องร้องกับลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีทุนต่อเพิ่มเพื่อทำธุรกิจ และมีเงินทุนหมุนเวียน และเมื่อกิจการเดินหน้าต่อไปได้ ก็จะสามารถมีเงินกลับมาปรับโครงสร้างหนี้ และชำระเงินคืนกับเจ้าหนี้เดิมต่อไป