ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่สดใสในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการใหม่ๆเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรอความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ ทำให้ความต้องการสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นไปในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) สำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ มากกว่าลักษณะของการขอสินเชื่อใหม่
ขณะที่ทางด้านของภาคครัวเรือนนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาสร้างแรงกดดันต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง กอปรกับทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสแรกเป็นไปอย่างจำกัด และเมื่อผนวกกับปัจจัยทางฤดูกาลในเรื่องของการเร่งเบิกจ่ายสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของแต่ละปี และการชำระคืนสินเชื่อที่มักจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกแล้ว ทำให้มองว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ไตรมาส 1/2558 น่าจะมีการขยายตัวที่ 0.4%QoQ และ 4%YoY ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ 2.5%QoQ และ 4.15%YoY ณ ไตรมาส 4/2557
ขณะที่ทางด้านของเงินฝากนั้น ธนาคารส่วนใหญ่ได้พยายามบริหารจัดการต้นทุนด้านเงินฝาก โดยสินเชื่อที่ชะลอตัวส่งผลให้ธนาคารไม่ได้มีนโยบายในการระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นเท่าใดนัก นอกจากนั้น คาดว่ายอดเงินฝากในบางธนาคารอาจมียอดที่ลดลงเมื่อเทียบสิ้นปี 2557
สำหรับแนวโน้ม NIM ในไตรมาส 1/2558 อาจขยับลงเล็กน้อย ขณะที่การลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะส่งผลต่อ NIM ในไตรมาสถัดๆไป ซึ่งคงต้องประเมินควบคู่กับโมเมนตัมของธุรกิจหลักด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในส่วนของ MLR และเงินฝากประจำ โดยในส่วนของการปรับลด MLR อาจกระทบต่อรายได้ของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มของลูกค้ารายใหญ่
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส และรายจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงมาจากในส่วนของเงินฝากประจำที่ครบกำหนดในช่วงระหว่างนั้นจนถึงสิ้นไตรมาสซึ่งจะรับรู้ดอกเบี้ยใหม่ที่ลดลง จึงคาดว่าน่าจะส่งผลต่อการปรับตัวของ NIM ในไตรมาสถัดๆไปมากกว่าในไตรมาสนี้ ขณะที่ผลต่อ NIM ในไตรมาส 1/2558 น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด โดยมองว่า NIM ในไตรมาส 1/2558 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.0% ขยับลงเล็กน้อยจาก 3.1% ในไตรมาส 4/2557 จากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอันสืบเนื่องจากการชะลอตัวของสินเชื่อ
ในช่วงที่ผ่านมาหลายธนาคารได้หันมาให้น้ำหนักกับการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยทดแทนผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากดอกเบี้ย ขณะที่มองว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมในบางรายการที่คาดว่ายังคงขยายตัวได้และน่าจะช่วยหนุนภาพรวมของรายได้ค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าธรรมเนียมนายหน้า (จากธุรกิจจัดการกองทุนและธุรกิจประกันชีวิต)
นอกจากนั้น การแข่งขันกันของแต่ละธนาคารในการเป็นธนาคารหลักด้านการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า (Transactional banking) โดยมุ่งพัฒนาช่องทางธุรกรรมให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ในการทำธุรกรรมของลูกค้า เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการผ่านธนาคารมากขึ้น น่าจะช่วยหนุนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการธุรกรรมทางการเงิน เช่น ค่าธรรมเนียมเอทีเอ็ม บัตรเดบิต บริการ e-Banking รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการโอนและเรียกเก็บเงิน เป็นต้น แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสินเชื่อ (Loan related fee)จะปรับตัวลดลง โดยคาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิในไตรมาส 1/2558 น่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น 12%YoY เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ 10.5%YoY ในไตรมาส 4/2557แม้จะลดลง 1.7% QoQ จากผลของฐานที่สูงในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ ท่ามกลางภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารพาณิชย์จึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นที่น่าสังเกตว่า การประคองระดับหนี้เสียที่วัดจาก NPL ในภาพรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นมากในปีที่แล้วนั้น สะท้อนความพยายามของธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และการขายหนี้ออกไปในช่วงระหว่างปี ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2558 น่าจะสามารถทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับในไตรมาส 4/2557 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.5%
ในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น มุมมองที่ระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์สะท้อนผ่านการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ดังจะเห็นได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะยังคงระดับการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับที่สูงอยู่ (แม้จะเป็นระดับที่ลดลงจากไตรมาสก่อน) จากความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากผลกระทบของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 4/2557 ที่ประมาณ 0.9%