พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดการศึกษาออกแบบให้แล้วเสร็จใน 12 เดือน จากเดิม 18 เดือน ซึ่งจะต้องเลือกท่าเรือที่เหมาะสมทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะมีท่าเรือหลัก ท่าเรือสำรอง โดยหากเป็นไปได้จะใช้พัฒนาท่าเรือของภาครัฐหรือของรัฐวิสาหกิจ ส่วนให้บริการเดินเรือนั้นจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเบื้องต้นฝั่งตะวันตก ท่าเรือจะอยู่บริเวณหัวหิน, ปึกเตียน, ชะอำ จ.เพชรบุรี, ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ฝั่งตะวันออกบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเทียบเรือเกาะลอย ศรีราชา ดำเนินการก่อสร้างและจัดหาผู้ให้บริการเดินเรือภายใน 3 ปี โดยการลงทุนในช่วงแรกจะสูง แต่ค่าใช้จ่ายด้านบริการและซ่อมบำรุงจะลดลงและในระยะยาวจะส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในภาพรวมลดลง
รมว.คมนาคม กล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวจะช่วยย่นระยะเวลา และเป็นการสร้างโอกาสและช่องทางในการท่องเที่ยว ส่วนการขนส่งสินค้านั้นจะลดจำนวนรถบรรทุกที่ต้องผ่าน กทม.และภาคกลางตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนความปลอดภัยนั้นโดยติดตั้งระบบ VTS ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิสูจน์ตำแหน่งของเรือทุกลำ และกำหนดเส้นทางเดินเรือ เพื่อความปลอดภัย มีศูนย์ควบคุมและสั่งการอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง และหน่วยกู้ภัยช่วยเหลือประจำ หน่วยบริการด้านสภาพอากาศ คลื่นลม ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
ปัจจุบันการเดินทางจากทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกไปตะวันตกหรือจาก จ.ชลบุรี จะต้องผ่าน จ.สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยรถยนต์ ระยะทาง 300 กม. ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง ดังนั้นการพัฒนาเส้นทาง East-West Corridor ทางเรือระหว่างชายฝั่งตะวันออกกับชายฝั่งตะวันตกจะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทาง การท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า ระยะทาง 2 ฝั่ง ประมาณ 100 กม. ใช้เวลาเดินทางและเข้าออกชายฝั่งไม่เกิน 2 ชม.เท่านั้น โดยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาให้ข้อมูล และจะลงสำรวจพื้นที่ในเดือน พ.ค.นี้