ยอดหนี้สาธารณะดังกล่าว แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 73,393.51 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 50,859.81 ล้านบาท การออกตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสด จำนวน 15,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 2,512.04 ล้านบาท ประกอบด้วย การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 1,624.04 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 888 ล้านบาท
การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 10,000 ล้านบาท
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 4,569.18 ล้านบาท ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย สำหรับนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อเป็นค่าหัวรถจักร 20 คัน 20 ตัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 5,525.80 ล้านบาท หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 932.31 ล้านบาท
"การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนมากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน"โฆษก สบน.ระบุ