"นายกฯ สั่งปรับวิธีการแก้ไขใหม่ โดยให้ดำเนินการเป็นช่วงระยะเร่งด่วนกับช่วงระยะยาว"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาหลายประการ เช่น จำนวนสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อปี 48 มีจำนวน 12 สายการบิน แต่ปัจจุบันจดทะเบียนเพิ่มเป็น 61 สายการบิน และหยุดทำการบินไปแล้ว 20 สายการบิน ขณะเดียวกันมีข้อห่วงใยจาก ICAO จำนวนมากถึง 560 ข้อ เช่น การบรรทุกสินค้าอันตราย, การออกใบอนุญาต AOC, การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารการบินให้มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น
"นายกฯ ให้ไปดูว่ามีเรื่องอะไรที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน อะไรที่เป็นการแก้ไขระยะยาว" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม จะเดินทางไปแคนาดาในวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อชี้แจงต่อ ICAO ให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และคาดหวังว่าการชี้แจงดังกล่าวจะทำให้ ICAO ยอมรับมาตรการที่ล่าช้าไปจากกำหนด 1-1.5 เดือน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาสายการบินที่ไม่ตรงมาตรฐานความปลอดภัยของ ICAO ซึ่งต้องแก้ไขให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ประมาณกว่า500 ข้อ ขณะนี้มีสายการบินเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน ส่วนการปรับโครงสร้างหน่วยงานรับผิดชอบด้านการบินของไทย ในเบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อความเหมาะสมและแก้ปัญหาในเบื้องต้น และแก้ปัญหาภายในของกรมการบินพลเรือน
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า สาเหตุที่การแก้ปัญหาล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่ ICAO กำหนดไว้กว่า 1 เดือนครึ่งนั้น เพราะยังมีปัญหาอีกมาก แต่รัฐบาลพยายามแก้ไขในแต่ละส่วน สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการได้รับการยอมรับจาก ICAO ด้วย โดยส่วนตัวอยากให้แก้ปัญหาได้โดยเร็ว แต่ยังไม่สามารถทำได้ขณะนี้เพราะยังติดขัดปัญหาโครงสร้างและการบริหารงานทั้งหมด