อนึ่ง รัฐบาลมีนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการส่งเสริมสินค้าทางการเกษตรของพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาจนสามารถส่งออกสินค้าไปยังผู้ค้าและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเหลือและเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าเส้นไหมไปยังตลาดภายในประเทศ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยลดต้นทุนทางการตลาดและระบบการขนส่ง และเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาเส้นไหม โดยใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพผ่านตลาดกลางสินค้าเส้นไหมโดยสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานการจัดทำโครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเส้นไหม
นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไข่ไหมขาดแคลนในปีงบประมาณ 2558 เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแจ้งความจำนงขอรับบริการไข่ไหมจำนวน 211,228 แผ่น แต่กรมหม่อนไหมได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการผลิตไข่ไหมเพียง 120,000 แผ่น แผนดังกล่าวแบ่งเป็น ระยะสั้น (ปี 2558) ระยะกลาง (ปี 2558-2560) และระยะยาว (ปี 2558-2563) โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558) ดำเนินการไปแล้ว คือ 1) การผลิตไข่ไหมจำนวน 61,212 แผ่น คิดเป็นร้อยละ 37.80 ของแผนการผลิต 2) แจกจ่ายไข่ไหมไปแล้วทั้งสิ้น 50,038 แผ่น คิดเป็นร้อยละ 81.75 ของผลการผลิตไข่ไหม ในขณะที่แผนการจองไข่ไหมของเกษตรกรในช่วงเดือนตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558 ที่แจ้งไว้เพียง 38,456 แผ่น 3) เกษตรกรที่ติดต่อขอรับบริการไข่ไหมมีทั้งสิ้น 3,580 ราย และ 4) พันธุ์ไหมที่เกษตรกรให้ความสนใจขอรับบริการมากที่สุดคือพันธุ์ไทยลูกผสม โดยเฉพาะพันธุ์เหลือไพโรจน์