ปัจจุบัน KBANK มีลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจด้วยการซื้อขายเงินสดเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ธุรกิจรับซื้อของใช้แล้ว (Recycle) และธุรกิจเกษตรพืชไร่ รวมมูลค่าเงินหมุนเวียนมากกว่า 82,100 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะการค้าขายสินค้าเกษตรที่มีผู้ซื้อ-ขายอยู่ในระบบจำนวนมาก มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท ยังคงชำระด้วยเงินสดเกือบทั้งหมด ทำให้เกิดความเสี่ยงในการถือครองเงินสดและความยากในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
ทั้งนี้ การโอนเงินชำระค่าผลผลิตให้เกษตรกร จะลดความเสี่ยงจากการถือครองเงินสดจำนวนมากของผู้ประกอบการลานเกษตร ช่วยเพิ่มโอกาสในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องสำรองเงินสดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลานเกษตรในการขอสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากธนาคาร จะทราบถึงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่แท้จริง
นายพัชร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถให้บริการธุรกิจเกษตรพืชไร่ได้ครบตลอดทั้งวงจรธุรกิจ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพืชไร่รายใหญ่ หรือลานเกษตร ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มผู้รวบรวมรายใหญ่ ผู้รวบรวมรายย่อย และรับซื้อจากเกษตรกรเฉลี่ย 300-400 รายต่อวัน โดยการซื้อ-ขายผลิตผลทางเกษตรด้วยเงินสด ซึ่งผู้ประกอบการลานเกษตรต้องสำรองเงินสดวันละ 10-12 ล้านบาท
ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้ากลุ่มธุรกิจพืชไร่ ประมาณ 4,000 ราย มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท และได้เปิดทดลองโครงการโอนเงินชำระค่าผลผลิตเพื่อเกษตรกรให้แก่ลูกค้าลานเกษตรที่รับซื้อผลผลิตลานมันในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดเลย ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารตั้งเป้าจะให้ความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมของธุรกิจอื่นๆ ที่ซื้อ-ขายเงินสดมาซื้อผ่านระบบให้มากขึ้น
ด้าน นายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่าธ.ก.ส.เป็นธนาคารที่ให้การดูแลเกษตรกรเป็นหลัก มีเครือข่ายบริการอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันพัฒนาบริการทางด้านการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าพืชผลทางการเกษตร (ลานเกษตร) และเกษตรกรพืชไร่ในการบริหารจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงของเกตรกรในการถือเงินสดโดยเกษตรกรจะได้รับเงินโดยตรง ซึ่งธ.ก.ส.สนับสนุนให้เกษตรกรมีการเก็บออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการซื้อขายเงินสดเข้ามาสู่การซื้อขายในระบบธนาคาร เป็นการลดการถือครองเงินสด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการลดการใช้เงินสดเพื่อใช้ระบบชำระเงินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ