ขณะเดียวกัน จะมีบทบาทในการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักในการทำธุรกรรมทางการเงิน พร้อมเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนทั้งในระดับทวิภาคีระหว่างไทย-จีน และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่อาจะเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีส่วนช่วยให้ระบบการเงินของประเทศไทยสามารถลดต้นทุนในการกู้ยืมเงินสกุลหยวนได้โดยตรงจากประเทศจีนอีกด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการด้านธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารนำเสนอต่อลูกค้า ได้แก่ บริการเคลียร์ริ่งเงินหยวน โดยธนาคารจะให้บริการชำระและส่งมอบเงินหยวนแก่คู่ค้าในประเทศจีน ทั้งแบบ Onshore RMB และ Offshore RMB, บริการบัญชีเงินฝาก, บริการฝากประจำสกุลเงินหยวน, บริการแลกเปลี่ยนธนบัตรเงินหยวน รวมถึงบริการเบิกเงินเกินบัญชี ทั้งแบบระหว่างวันและแบบข้ามคืน
นายเย่ หู กล่าวด้วยว่า ธนาคารยังให้บริการจัดการทางการเงินสกุลหยวน เนื่องจากธนาคารสามารถเข้าถึงตลาดแลกเปลี่ยนเงินหยวนในประเทศจีนได้โดยตรง จึงสามารถช่วยธนาคารสมาชิกซื้อเงินหยวนเป็นทุนสำรอง ทั้งยังให้บริการจัดการทางการเงินสำหรับการซื้อ-ขายเงินหยวนที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติโดยธนาคารกลางจีน
"ธนาคารวางแผนที่จะเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรมระหว่างไทย-จีน และด้านเงินหยวน ทั้งในธุรกิจด้าน Wholesale โดยดูจากปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างไทย-จีน และทั่วโลกที่มีอัตราเติบโตขึ้นโดยตลอด อีกทั้งเงินหยวนได้รับการยอมรับเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันปริมาณการใช้เงินหยวนสูงขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลก" ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี(ไทย) ระบุ
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่หลังจากนี้ไปจะทำให้มีการใช้สกุลเงินหยวน และสกุลเงินบาทในการทำธุรกิจการค้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่นักธุรกิจไทยที่ติดต่อค้าขายกับนักธุรกิจจีนโดยตรง รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ 3 ลงด้วย
"กรณีที่ไทยค้าขายกับจีน ถ้าไปใช้สกุลเงินที่ 3 ก็ต้องมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลที่ 3 อีก แต่ถ้าบาทกับหยวนมีคนจัดการให้โดยตรง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 3 เส้า มาเหลือ 2 เส้า" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่สกุลเงินหยวนจะสามารถมีบทบาทมากขึ้นได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องขึ้นกับกลไกการสนับสนุนจากส่วนต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนเองด้วย ขณะเดียวกันถ้าจะให้สกุลเงินหยวนสามารถแข่งขันได้กับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็จำเป็นต้องทำให้ส่วนต่างระหว่าง bid กับ offer ไม่กว้างไป เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับความนิยม และคนจะหันกลับไปใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐตามเดิมเนื่องจากมีส่วนต่างระหว่าง bid กับ offer ที่แคบกว่า
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนเองจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นที่กระจ่างชัดแก่นักธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งในกรณีนี้ได้เคยเสนอไปยังธนาคารกลางจีนแล้วว่าให้นำกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นภาษาจีนนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ลงเว็บไซต์ เพื่อให้นักธุรกิจเกิดการรับรู้และเข้าใจ สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในการทำการค้าได้อย่างถูกต้อง