พณ.เชื่อหลังบังคับใช้ กม.ประมงฉบับใหม่ อียูจะปลดใบเหลืองสินค้าประมงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2015 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองประเทศไทยกรณีการทำประมงผิดระเบียบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU) ของอียู ว่า แม้อียูจะยังไม่ระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากอียูให้ระยะเวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนรองรับกรณีที่การส่งออกสินค้าประมงได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการตัดสินดังกล่าว

โดยในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมกลุ่มทำงานสินค้า 10 กลุ่ม เพื่อขยายตลาดการส่งออก ซึ่งในนั้นมีกลุ่มอาหารที่รวมสินค้าประมงอยู่ด้วยนั้น จะมีการหารือถึงตลาดรองรับการส่งออกสินค้าประมงในตลาดใหม่ๆ เบื้องต้นจะเน้นขยายตลาดส่งออกเพิ่มเติมไปยังตลาดตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม)

"นอกเหนือจากตลาดอียูที่ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาประมงแล้ว จะมีการหาตลาดใหม่ๆไว้เพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคหรือผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยยังคงมั่นใจในมาตรฐานสินค้าของไทย" นางอภิรดี กล่าว

พร้อมกันนี้ ตนเองได้สั่งการให้ผู้อำนวยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาประมง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ในการชี้แจงภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยให้ผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ได้เข้าใจว่าไทยได้พยายามผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงอย่างเต็มที่

โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสถานการณ์ประมงในไทย โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ที่จะเพิ่มเติมบทลงโทษ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว เหลือเพียงการบังคับใช้ที่ต้องเร่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

รมช.พาณิชย์ เชื่อว่า หลังจากร่างกฏหมายประมงฉบับใหม่บังคับใช้น่าจะทำให้อียูปลดใบเหลืองให้กับไทย เนื่องจากได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อียูได้กำหนดให้ไทยแก้ไขสถานการณ์ประมงผิดกฎหมายได้ รวมทั้งขณะนี้ไทยกำลังเร่งจัดระเบียบเรือประมง โดยมีการติดตั้งระบบตรวจสอบ VMS และการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง และการผลักดันให้ห้างค้าปลีกจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในการซื้อวัตถุดิบประมงจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย

"ร่างกฎหมายประมงได้ผ่าน สนช.แล้ว แต่ยังไม่ทันบังคับใช้ อียูได้ให้ใบเหลืองกับไทยก่อน แต่เชื่อว่าหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วง 6 เดือน ที่อียูให้แก้ไขปรับปรุงระบบประมงของไทย อียูจะปลดใบเหลืองให้แน่นอน" นางอภิรดี กล่าว

ขณะที่ นายโฆษิต โลหะวัฒนะกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาดการค้าต่างประเทศ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) กล่าวว่า อียูให้ใบเหลืองไทยจะไม่กระทบการค้าของบริษัทฯ เนื่องจากสินค้ากุ้งของบริษัทฯมาจากการเลี้ยงในฟาร์ม ขณะเดียวกันธุรกิจของบริษัทฯไม่มีเรือประมง โดยบริษัทปฏิบัติการตรวจสอบภายในเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งคู่ค้าและบริษัทตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และเริ่มเดินหน้าตรวจสอบทั้งระบบโดยหน่วยงานตรวจสอบอิสระชั้นนำระดับสากล เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดขบวนการผลิตของบริษัทฯปราศจากปัญหาแรงงาน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทฯได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานอิสระชั้นนำระดับสากลเพื่อยืนยันความถูกต้องและความเข้มงวดในระบบตรวจสอบย้อนกลับ

ทั้งนี้ บริษัทฯได้เตรียมหาแหล่งผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการส่งออกจากประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี 56 โดยจะใช้การผลิตจากโรงงานที่เวียดนามเพื่อส่งออกไปยังอียูแทน และซีพีเอฟยังมีฐานการผลิตอีกหลายแห่งที่จะสามารถส่งออกไปอียูได้

ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ โดยเฉพาะทูน่า มีการนำเข้าวัตถุดิบกว่าปีละ 8-9 แสนตัน มูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท ภายหลังการแปรรูปก็ได้ทำการส่งออกถึงปีละ 120,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกในตลาดอียู 12,000 ล้านบาท หรือเพียง 10% โดยหากประเทศผู้นำเข้ารายอื่นกำหนดระเบียบที่เข้มขึ้นตามอียู ก็จะทำให้เกิดผลกระทบมาก แต่จากมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯกำลังดำเนินการก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ข้อกล่าวหาของอียูที่จะให้ใบแดงกับไทยได้แน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ