ทั้งนี้ บีโอไอ โดยศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ(TOI) ได้ทำแผนชักจูงลงทุนใน 4 ประเทศดังกล่าว เพื่อสรุปเป็นแนวทางให้นักลงทุนไทยได้ทราบข้อมูลทั้งข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎระเบียบ ขั้นตอน โอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุน ตลอดจนอุปสรรคและข้อควรระวังในการเข้าไปลงทุนทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนที่สนใจมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนอย่างแท้จริง
"สิ่งสำคัญของการสนับสนุนภาคเอกชนให้ออกไปแสวงหาโอกาสการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ต้องมุ่งไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพรองรับการลงทุนด้วย ซึ่งทั้ง 4 ประเทศมีความพร้อมในด้านการรองรับการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสัมมนาในครั้งนี้ จะช่วยให้นักลงทุนไทยได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเข้าไปลงทุน หรือดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และแอฟริกาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป" นายโชคดี กล่าว
นายโชคดี กล่าวว่า ทั้ง 4 ประเทศตลาดใหม่เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นตลาดรองรับสินค้าและบริการ รวมไปถึงการลงทุนจากประเทศไทย ทั้งในด้านความพร้อมของทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ประเทศดังกล่าวได้รับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว(GSP)
สำหรับประเทศเคนยา นับเป็นประเทศศูนย์กลางของกลุ่มประเทศสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค มีเครือข่ายการเชื่อมโยงการคมนาคมที่ดี ทั้งด้านความพร้อมของท่าเรือ รวมถึงเส้นทางรถไฟและการบินเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อูกันดา ซูดานใต้ ขณะเดียวกันยังมีทรัพยากรธรรมชาติด้านการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยในการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์เกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรแปรรูปอาหาร อัญมณี เป็นต้น
ส่วนแอฟริกาใต้ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ปัจจุบันการลงทุนระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้ยังมีน้อย ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพต่อการลงทุนร่วมกัน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม การก่อสร้าง ธนาคาร และแปรรูปอาหาร ธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง อาทิ โรงงานผลิตสีอุตสาหกรรม ร้านอาหารและสปา
เอธิโอเปีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 97 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปี ทำให้เอธิโอเปียเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากโดยมีจีนเป็นนักลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างสาธารณูปโภค นอกจากนี้เอธิโอเปียยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบ และกาแฟ
อุซเบกิสถาน เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ในกลุ่มประเทศรัฐอิสระที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย หรือ CIS (Commonwealth of Independent States) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปี ปัจจุบันอุซเบกิสถานยังคงเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อและคมนาคมในภูมิภาค อุซเบกิสถานเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงไปเมื่อปี 2013 นอกจากนี้ อุซเบกิสถานยังเป็นแหล่งเกษตรกรรมและมีทรัพยากรธรรมชาติจำพวกแร่จำนวนมาก โดยสามารถผลิตยูเรเนียมได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก