"ประจิน"มั่นใจดันรถไฟทางคู่-รถไฟไทยจีน/ญี่ปุ่น-รถไฟความเร็วสูงชัดเจนในครึ่งหลังปีงบ 58

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 23, 2015 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เชื่อมั่นครึ่งหลังของปีงบประมาณ 58(เม.ย.-ก.ย.58)โครงการตามแผนยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งจะเดินหน้าอย่างชัดเจน ทั้งรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง วงเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี การเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง และหาผู้เดินรถสายสีน้ำเงิน และสายสีเขียวใต้ รวมทั้ง โครงการรถไฟไทย-จีน และ รถไฟไทย-ญี่ปุ่น คาดว่าจะมีเงินลงทน 1 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นกทม.-พัทยา และเส้นกทม.-หัวหิน ก็จะได้ความชัดเจนด้วย เหล่านี้จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้
"ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ โครงการต่างที่อยู่ในแผนงานจะมีความก้าวหน้า และค่อนข้างมั่นใจ มีผลปฏิบัติเชิงรูปธรรม ที่ผ่านมาติดขัดหลายประการ ทั้งเรื่องผลประโยชน์ กฎกติกา ไม่ได้เกี่ยวกับระบบคุณธรรมที่ให้โครงการล่าข้า"รมว.คมนาคมกล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ที่ล่าช้าไปนั้น ขณะนี้ได้เซ็นอนุมัติให้เดินหน้าในโครงการช่วงฉะเชิงเทรา-ตลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ก่อนหน้านี้ได้ยกเลิกการประกวดราคาตามข้อท้วงติงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และจะมีการประกวดราคาใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.58 รวมอีก 5 เส้นทาง รวมวงเงินลงทุน 8.6 หมื่นล้านบาท มีระยะผูกพัน 3 ปี

ส่วนเส้นทางช่วงจิระ-ขอนแก่นจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน เม.ย.58 ประกวดราคาได้ภายในเดือน ก.ค.58 คาดว่าจะก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย.58 และกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 61 3)เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร โดนผ่าน EIA แล้วเมื่อ 7 ต.ค.57 เตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือน มิ.ย.58 เริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.59 กำหนดแล้วเสร็จปี 62

ส่วนอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และช่วงนครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมประสานติดตามผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

ขณะที่โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทาง 873 กม.ได้เดินงานได้ตามแผนและคาดว่าจะสรุปวงเงินลงทุนได้ในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นคาดว่าญี่ปุ่นสนใจลงทุน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกาญจบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง และเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะมีการสรุปวงเงินต่อไป

ทั้งหมด 3 เส้นทาง ประเมินเบื้องต้นจะมีวงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท รวมกับงบลงทุนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย วงเงินลงทุน 1.9 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 8 ปี

โครงการรถไฟความเร้วสูง 2 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพ-พัทยา ขณะนี้ได้มีกลุ่มทุนไทย 3 รายเข้ามาเสนอตัวแล้ว ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มไทยเบฟ และ บีทีเอส ทั้งนี้ จะดำเนินการคู่ขนานโดยเสนอเรื่องต่อ ครม.อนุมัติ และเปิดให้เอกชนลงทุน คาดว่าในปีงบประมาณนี้จะได้ข้อสรุปโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ การวางโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเป็นไปตามแผน โดยคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อจะเดินรถได้ในปี 59 โดยปีนี้เริ่มทยอยรถเข้ามา รวมทั้งจะได้ข้อสรุปว่าเอกชนรายใดจะได้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและ หัวลำโพง-บางแค และ สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งได้ให้กทม.เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถสายสีเขียวนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ