สำหรับผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระดับประเทศนั้น คาดว่าในระยะเริ่มแรกของการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ คงไม่ได้มีผลในการเพิ่มหนี้ครัวเรือนนัก เนื่องจากเชื่อว่าผู้ประกอบการจะทยอยเดินหน้าธุรกิจนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมมากขึ้นสำหรับการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็ควบคุมความเสี่ยงเครดิตของพอร์ตสินเชื่อตนไม่ให้สูงเกินไป ท่ามกลางการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของทางการไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ขอใบอนุญาตและผู้ที่สนใจเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พบว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเน้นการเริ่มต้นการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมเป็นหลัก เพื่อดูแลความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อประเภทใหม่นี้ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ให้บริการดังกล่าวเลือกที่จะไม่เป็นสมาชิกและส่งข้อมูลลูกค้าให้กับเครดิตบูโร
ขณะที่แม้เกณฑ์ของทางการจะเปิดช่องให้ผู้ให้บริการสามารถปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ให้กับลูกค้าเดิมได้ แต่ต้องออกมาในรูปของอีกหนึ่งบัญชีสินเชื่อที่แยกออกมาจากบัญชีสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยที่ไม่ได้ใช้หลักประกันของสินเชื่อประเภทอื่นๆ ดังกล่าว มาใช้ลดหรือชดเชยความเสี่ยงจากการปล่อยกู้สินเชื่อประเภทนาโนไฟแนนซ์
นั่นหมายความว่า ลูกค้าที่เข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในระยะแรกนี้ มีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าที่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้ว มากกว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบมาก่อนเลย อย่างไรก็ดี สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังช่วยลดปัญหาสินเชื่อนอกระบบทางอ้อม ผ่านการผ่อนแรงกดดันไม่ให้ผู้ที่มีบัญชีสินเชื่อในระบบอยู่แล้วข้างต้น เลือกไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบในจังหวะที่ต้องการเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพเสริม/เพิ่มเติมได้
ส่วนประเด็นจับตาในระยะถัดไป คือ ผู้ให้บริการจะสามารถหาส่วนผสมของโมเดลธุรกิจที่ลงตัว เพื่อให้ขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยมีบัญชีสินเชื่อในระบบมาก่อนได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สามารถตอบโจทย์ตรงวัตถุประสงค์ตั้งต้นของทางการมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความท้าทายจากกฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ และการรักษาคุณภาพหนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อให้กลไกนี้ดำเนินไปอย่างยั่งยืน โดยไม่นำมาสู่ความกังวลต่อปัญหาในระดับครัวเรือนและความเสี่ยงเชิงระบบในอนาคตนั้น นอกจากการติดตามและการกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือนแล้ว ทางการไทยอาจพิจารณาเกณฑ์อื่นๆ ประกอบเพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะหากปรากฏสัญญาณที่นำไปสู่ความจำเป็นในการดูแลเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดเพดานการปล่อยกู้รวมของลูกค้า โดยรวมวงเงินปล่อยกู้ของผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทุกรายรวมกัน อันน่าจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยดูแลคุณภาพหนี้ของสินเชื่อประเภทนี้ได้