แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ก็ให้ความสำคัญกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีการออก กฎหมาย รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การประมง ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นพิจารณาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และการอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งอำนวยความสะดวกให้มีการขับเคลื่อนบูรณาการแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้น ทั้งการจดทะเบียนเรือประมงที่ขณะนี้ทำไปแล้วถึง 3 หมื่นลำ การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
"ทุกเรื่องต้องใช้เวลา ดังนั้นขออย่าใจร้อน หรือกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาสะสมมานาน"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังชี้แจงว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่ง แต่จะเป็นการติดตามเร่งรัดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ทั้งกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเสริมหารทำงาน
"มาตรา 44 เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่นำมาตรา 44 มาแก้มะนาวแพง แก้เศรษฐกิจ แก้ประมง แต่นำมาบูรณาการให้หน่วยงานต่างๆทำงานร่วมกันได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการประมงปิดกฎหมาย ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เสนอให้มีการออกพระราชกำหนดมาแก้ไขปัญหา IUU นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.สามารถทำได้ในบางเรื่อง แต่ออก พ.ร.ก.ต้องดำเนินการหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลา และไม่ทันต่อการแก้ปัญหากับสถานการณ์ในขณะนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงจาการ์ต้า ยังได้หารือกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เพื่อจะร่วมกลุ่มประเทศในอาเซียนแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งมอบหมายให้พลเอกธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศไปประสานงานกับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศต่างๆ ก่อนที่จะมาตั้งคณะทำงานร่วม ขณะเดียวกันยังได้ขอให้ช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่เข้าไปทำประมงผิดกฎหมาย โดยหากพบมีการกระทำความผิด ของผู้ประกอบการ ก็จะมีการลงโทษตามกฎหมาย
พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรื ยังยืนยันไม่ได้ใช้บริษัทล็อบยบี้ยิสต์ไปทำความเข้าใจกับอียูตามข้อเสนอภาคเอกชน แต่ใช้การพูดจาโดยตรงแบบลูกผู้ชาย เพราะเชื่อว่าจะเข้าใจมากกว่า แต่ถึงกระนั้นหากใช้ล็อบบี้ยิสต์จริงก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ และขณะนี้ไทยได้มีการส่งตัวแทนไปพูดคุยทำความเข้าใจกับอียูและสหรัฐอเมริกาแล้ว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่ยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมงไทย และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ และไม่สามารถบอกได้ว่าอียูจะพอใจกับมาตรากาของไทยหรือไม่ แต่จะพยายามแก้ปัญหาในทุกมิติและเร่งรัดแก้ปัญหาเต็มที่
"ผมไม่ได้สัญญา เพราะถ้าเรื่องใดไม่สำเร็จผมสัญญาไม่ได้ เพราะผมไม่ได้ตัดสิน แต่ผมทำเต็มที่ทำทุกมิติในประเทศ ต่างประเทศ"พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาจะมีการหยิบยกเรื่องประมงผิดกฎหมายไทยไปพิจารณาคว่ำบาตร นายกรัฐมนตรี มองว่าเป็นกิจการภายในสหรัฐฯไม่ใช่สภาไทย ดังนั้นขออย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะจากการพูดคุยกับหลายประเทศก็เข้าใจถึงการทำงานของรัฐบาลที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาต่างๆ และยังให้กำลังใจในการทำงาน
เช่นเดียวกับปัญหา ICAO ที่ต้องแก้ไขกฎระเบียบถึง 500 ข้อ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็พยามยามแก้ปัญหา ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นว่า ทำไมปัญหาต่างๆถึงเข้ามาในรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่อยากให้สื่อนำไปเป็นประเด็นกล่าวโทษคนอื่น แต่ยอมรับว่าเป็นความท้าทายในการทำหน้าที่ และไม่อยากให้ต่างชาติมองประเทศไทยในทางที่ไม่ดี อีกทั้งยังรู้สึกหนักใจที่แก้ปัญหายังไม่เสร็จ เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหามากขนาดนี้ แต่ก็เชื่อว่าทุกคนห่วงประเทศ เช่นเดียวกับนักการเมืองดีๆ ที่ยังมีอยู่ แต่ทุกคนต้องปรับตัวเองช่วยกันแก้ปัญหา
"ท้าทายตั้งแต่วันแรกที่ผมตัดสินใจ มันเป็นความเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.แล้ว เสี่ยงว่าเข้ามาจะเกิดอะไรขึ้น อันตรายต่อตัวผมเองหรือไม่ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ สร้างความเข้าใจกับคนในชาติได้หรือไม่ สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศได้หรือไม่...ก็หนักใจมันแก้ไม่หมด มันแก้ไม่เสร็จ คือคิดว่าเข้ามาจะแก้ได้เสร็จเพราะว่า มันคงไม่หนักหนาสาหัสเท่าไหร่ พอเข้าว่าผมก็ไม่อยากบ่นหรอกนะ บ่นหลายทีก็ไม่ดี คนอื่นได้ยินก็ว่าเขาก็ว่าประเทศไทยมันเน่า ขี้เกียจพูด"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว