"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นเข้ามาลงทุนในไทย คือสกุลเงินบาท ที่ต้องยอมรับว่าเป็นสกุลเงินที่ถือว่าแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหยวน เยน ริงกิต วอน เป็นต้น อีกทั้งประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกับทางแบงก์ชาติ ก็คือให้พยายามเปิดกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่แค่เรื่องของบาทบอนด์ แต่ให้รวมไปถึงเรื่องของการค้า เกี่ยวกับการทำธุรกรรม จากที่จะมีการเปิด AEC"นายสมหมาย กล่าว
ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ของไทยมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีขนาดราว 13 ล้านล้านบาท มูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 76% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP) แต่ยังมีมูลค่าน้อยกว่าตลาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีการปล่อยสินเชื่อ 106% ของ GDP รวมถึงตลาดตราสารทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 114% ของ GDP ซึ่งตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
นายสมหมาย กล่าวว่า การเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดตราสารหนี้ทำให้รัฐบาลพึ่งพาการกู้จากตลาดตราสารหนี้จำนวนมาก จากปี 40 รัฐบาลมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศมากถึง 85% และที่เหลืออีก 15% เป็นการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินในประเทศ แต่ในปี 58 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การกู้ยืมจากต่างประเทศลดลงเหลือเพียง 1.92% เนื่องจากรัฐบาลมีการกู้เงินผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้นถึง 98% ทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศลดลงมาก
ขณะที่ก็มีผู้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนสถาบัน 40% ธนาคารพาณิชย์ 14% และที่เหลือเป็นนักลงทุนต่างชาติ จะเห็นได้ว่าต่างชาติได้ให้ความเชื่อถือตลาดตราสาหนี้ของไทยสูงมาก