1. กนง.คงเลือกรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งก่อนหน้า ท่ามกลางความหวังว่าแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและการผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐจะช่วยฟื้นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งก่อนหน้า จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมลงตามประมาณ 0.1-0.3% แต่กลไกการส่งผ่านผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มาสู่การปล่อยสินเชื่อและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ต้องใช้ระยะเวลา ทำให้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระหว่างที่เครื่องยนต์จากฝั่งการส่งออกยังคงอ่อนแอนี้ คงต้องพึ่งกำลังส่งจากภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ปรากฏสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ทำได้ถึง 3.8 หมื่นล้านบาทในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการเบิกจ่ายในช่วง 3 ปีงบประมาณที่ผ่านมาที่เพียง 2.3 หมื่นล้านบาท
"ดังนั้น กนง.จึงน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนโยบายการคลัง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่มีบทบาทถึง 10% ของจีดีพี ในการช่วยหนุนนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ
2. สถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง สวนทางกับการออมในระดับครัวเรือนที่ลดลง อาจส่งผลให้ กนง.มีความระมัดระวังในการพิจารณาถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยแม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2557 จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2556 แต่ด้วยจีดีพีของไตรมาส 1/2558 ที่มีโอกาสไม่เติบโตจากสิ้นปีก่อน ขณะที่ สินเชื่อของระบบสถาบันการเงินประเภทต่างๆ ที่อาจจบไตรมาสด้วยการขยายตัวเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน ก็อาจทำให้เห็นทิศทางสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2558 ที่ยังคงขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 85.9% ณ สิ้นปี 2557 ได้
"แม้ว่าระดับหนี้ภาคครัวเรือนดังกล่าวจะอยู่ในวิสัยที่ทางการไทยสามารถที่จะจัดการได้ แต่คงต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมอาจจะส่งผลให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น อีกทั้งลดแรงจูงใจในการออม อันตอกย้ำภาพที่การออมในระดับครัวเรือนไทยลดลงมาแล้วอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลสนับสนุนให้ กนง.เลือกคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน เพื่อดูแลประเด็นเชิงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากมองไปในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า กนง.อาจเผชิญแรงกดดันให้ต้องทบทวนจุดยืนเชิงนโยบายมากขึ้น หากเกิด 3 สถานการณ์ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ดังนี้ 1.ประสิทธิผลจากการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ มีข้อจำกัด โดยท่ามกลางหลากข่าวลบที่หลายด้านอยู่เหนือการควบคุมของไทย 2.ประเด็นเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน กระทบการฟื้นตัวของการส่งออก หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย 3.การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายของเฟดเป็นไปอย่างไม่เร่งรีบ ซึ่งทำให้ทางการไทยยังคงมีช่องว่างเพียงพอในการใช้นโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลาย เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหากแรงส่งเศรษฐกิจไม่เป็นไปดังคาดหวังดังที่กล่าวไปแล้ว