ครม.เห็นชอบมาตรการระยะสั้น-ระยะยาวแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด-ราคาตกต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 28, 2015 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ปัจจุบัน ปี 2558 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กษ. ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ 2 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขอให้แก้ปัญหาผลผลิตไก่ไข่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ปี 2553

จากข้อมูลคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ก่อนปี 2553 คณะกรรมการสามารถกำกับดูแลและกำหนดปริมาณนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ (P.S.) เฉลี่ยปีละ 405,721 ตัว หลังปี 2553 คณะกรรมการฯ และกรมปศุสัตว์ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 อย่างเคร่งครัด จึงมีผู้ประกอบการนำเข้า P.S. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดปี 2557 เพิ่มเป็น 627,346 ตัว คิดเป็นร้อยละ 54.62 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากเดิม (ก่อนปี 2553) เฉลี่ย 30 ล้านฟอง/วัน เพิ่มเป็น 41 ล้านฟอง/วัน ในปี 2558 ราคาไข่ไก่ตกต่ำในระยะยาวตั้งแต่ปี 2554 เฉลี่ยฟองละ 2.88 บาท ลดลงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ปี 2558 (16 มีนาคม 2558) เหลือฟองละ 2.00 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตฟองละ 2.93 บาท เกษตรกรขาดทุนฟองละ 0.93 บาท

การดำเนินงาน กษ. จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 เป็นวาระเร่งด่วน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ประกอบด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ มาตรการระยะสั้น (เร่งด่วน) ขอความร่วมมือส่วนราชการจัดสถานที่ให้เกษตรกรจำหน่ายไข่ไก่ตรงสู่ผู้บริโภค, รวบรวมไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบเพื่อส่งออกในรูปไข่ไก่สดและแปรรูปโดยชดเชยเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรฟองละไม่เกิน 0.50 บาท และ ปลดแม่ไก่ไข่ก่อนกำหนด อายุไม่เกิน 65 สัปดาห์ โดยทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนรวมช่วยเหลือเกษตรกร

ส่วนมาตรการระยะยาว กำหนดปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ และการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ (P.S.) ที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์มีอำนาจบริหารจัดการไก่ไข่ทั้งระบบ และกรมปศุสัตว์ควบคุมปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่และบริหารไก่ไข่พันธุ์ โดยการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเลี้ยงในฟาร์มต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ