ทั้งนี้ แรงฉุดจากตัวแปรลบดังกล่าวอาจบรรเทาลงบางส่วน โดยเฉพาะหากภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยปรับตัวขึ้นสู่กรอบที่สูงขึ้นกว่าในช่วงต้นปี ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดที่เป็นความหวัง อย่างตลาดในกลุ่ม CLMV และตลาดสหรัฐฯ น่าจะสามารถประคองภาพการขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2558 น่าจะกลับมามีโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก (ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายด้านถูกกระทบจากสภาวะอากาศที่ค่อนข้างหนาวจัด)
วันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. 2558 มีมูลค่า 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ที่ร้อยละ 4.45 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
"ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาส 2/2558 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นภาพที่บรรเทาลงกว่าสถานการณ์ไตรมาส 1/2558 ที่หดตัวถึงร้อยละ 4.7" เอกสารเผยแพร่ระบุ
จากสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ที่หดตัวลงมากกว่าที่คาดเล็กน้อย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งทำให้ยังคงคาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2558 อาจขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 0(โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงติดลบร้อยละ 1.0 ถึง ขยายตัวร้อยละ 2.0) ท่ามกลางการฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดของราคาสินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทย
นอกจากนี้ หากมองไปในช่วงเหลือของปี 2558 แม้จะคาดว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยน่าที่จะทยอยกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าในช่วงต้นปี แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งออกของไทยอาจได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าวเพียงบางส่วน เพราะมีข้อจำกัดของโครงสร้างในภาคการผลิต ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายประเภท(โดยเฉพาะสินค้าเกษตร) ยังต้องรับมือกับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นทั้งทางด้านราคาและปริมาณผลผลิตจากประเทศคู่แข่ง
นอกจากนี้ ต้องติดตามผลจากปัจจัยลบที่เข้ามาเพิ่มเติมของตลาดส่งออกบางแห่ง อาทิ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงไทยที่จะถูกประเมินอีกครั้งจากสหภาพยุโรปในด้านมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(IUU) ในเดือนต.ค.2558 ตลอดจนผลการรายงานประจำปี เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์(Trafficking in Persons Report) ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงกลางปี 2558 นี้ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเชิงลบต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า