นอกจากนี้ การประกาศเตือนของสหภาพยุโรปในประเด็นเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และการถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจะกระทบการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป ประกอบกับเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร รวมถึงค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกของไทย เหล่านี้จะเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2558
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคมอยู่ที่ 18,886.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ 4.4%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ส่งผลให้ไตรมาสแรกมูลค่าการส่งออกไทยหดตัวแล้วกว่า 4.7%YOY ด้านมูลค่าการนำเข้าในเดือนมีนาคมนั้นอยู่ที่ 17,391.2 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 5.9%YOY โดยในไตรมาสแรกมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดลดลง 6.4%YOY
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงรุนแรงกว่ามูลค่าการส่งออก จึงทำให้ไทยยังคงเกินดุลการค้าต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนที่แล้ว โดยในเดือนมีนาคมไทยเกินดุลการค้ามากถึง 1,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในไตรมาสแรก ไทยเกินดุลการค้าราว 1,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การส่งออกไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกไทยไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 30% ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 8.3%YOY, 8.4%YOY และ 3.9%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดศักยภาพสูงอย่าง CLMV ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมขยายตัว 5.6%YOY และ 17.4%YOY ตามลำดับ