อย่างไรก็ตาม สศค.มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนที่เติบโต 0.7% โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 58 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มการจ้างงาน และรายได้นอกภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้ง แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากนี้ไปคงต้องจับตาดูการส่งออกเป็นพิเศษ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีการไหลออกของเงินทุนมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทเมื่อเทียบดอลลาล์อ่อนค่าประมาณ -1.9% แต่ถ้าเทียบกับคู่ค้าของไทยเงินบาทยังแข็งค่ากว่าราว 7.6%
ขณะที่ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือ ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังเข้มแข็งและจะมีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายออกมาต่อเนื่อง
ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยที่ประมาณ 900 ล้านบาท โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ลดลงค่อนข้างมาก อาจเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ แต่ยังมีรายได้จากรมสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีดีเซลเข้ามาทดแทน รวมถึงแนวทางการให้รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เพิ่มขึ้นเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบในส่วนนี้ได้
นายกฤษฎา กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะปรับลดลงมาที่ 0.2% หรือมีช่วงประมาณการที่ -0.3 ถึง 0.7% ตามแนวโน้มการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าในประเทศ ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม
ทั้งนี้ นายกฤษฎา คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันนี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยยังมีผลโดยตรงในการกระตุ้นภาคธุรกิจ
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะหดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 17.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4.6% ของ GDP โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-6.7% ของ GDP
"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความ ผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร"นายกฤษฎา กล่าว
พร้อมกันนี้ สศค.ยังประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น จากการเร่งลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีการทำสัญญาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่ปีนี้คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 70%
ทั้งนี้ ในส่วนปีงบประมาณ 59 ยังยืนยันว่าต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และในขณะนี้ไม่มีโครงการใดที่ทำนอกงบประมาณ