สำหรับการดำเนินงานในอนาคต กฟผ. เดินหน้าสู่เป้าหมายองค์กรระดับโลก (Global Top Quartile Utility) โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1) การปรับปรุงความสามารถด้านการผลิตและส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้เทียบเท่าโรงไฟฟ้าระดับโลก โดยใช้กระบวนการ Best Practice เพื่อให้การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนมีความสูญเสียน้อยที่สุด และมีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าสูงสุดสามารถเทียบเคียงกับโรงไฟฟ้าในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในโรงไฟฟ้า 4 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ และเขื่อนวชิราลงกรณ ในส่วนของการขยายและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าได้นำกระบวนการ Lean Construction ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ กฟผ.สามารถก่อสร้างโครงการให้เร็วขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
2) การขยายงานด้านธุรกิจต่อเนื่องร่วมกับบริษัทในเครือ กฟผ. ได้มองถึงธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ เช่น ธุรกิจด้านไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจต้นน้ำด้านการจัดหาเชื้อเพลิง เช่น การนำเข้า LNG จากต่างประเทศ เป็นต้น
3) การนำความรู้ความเชี่ยวชาญในกิจการไฟฟ้าเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยกำลังก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ มีศูนย์หลักอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นจะเสนอความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งนำเสนอนวัตกรรมที่โดดเด่นที่ กฟผ. คิดค้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และความรู้ด้านกิจการไฟฟ้าของอาเซียน โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้จากศูนย์การเรียนรู้นี้ และ4) การพัฒนาศักยภาพบุคคลากร รุ่นใหม่ กฟผ. เพื่อสร้างผู้นำในอนาคต
ส่วนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี 2015) มีการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้น ซึ่ง กฟผ. มีการเตรียมพร้อม ด้วยการเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนเบื้องต้น อาทิ โรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2561 โรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 โรงไฟฟ้าเทพา 1 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนเมษายน ปี 64 และโรงไฟฟ้าเทพา2 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เดือนมการาคมปี 67
อนึ่ง ในปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการตามเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ มีความคืบหน้าตามลำดับ คือ สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โดยทำพิธีลงเสาเอกต้นแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2561 โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง 1-2 กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ได้จัดรับฟังความคิดเห็นรายงานการประเมินผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณา โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1-5 กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขประมาณเดือนกรกฎาคม 2558
นอกจากนี้ กฟผ. ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับการเติบโตของโรงไฟฟ้าใหม่และพลังงานทดแทน และระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid - APG) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญรองรับการพัฒนาพลังงานร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 จาก 69 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 58.96 สตางค์ต่อหน่วย ลดลง 10.04 สตางค์ ถือเป็นการปรับลดค่า Ft ลงมากที่สุดในรอบ 14 ปี