โดยมีหลักการสำคัญดังนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด มีการแบ่งพื้นที่การรับประกันภัยออกเป็น 5 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยง เพื่อจัดเก็บเบี้ยประกันภัยในอัตราที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยง
ด้านภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัย วงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาท ต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภทดังกล่าวและวงเงินความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนใช้เกณฑ์การประเมินความเสียหายที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการปี 2554 – 2557 กำหนดจำนวนพื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัยทั่วประเทศเป็นจำนวน 1.5 ล้านไร่
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ จะเริ่มขายกรมธรรม์หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ และสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ภายใน 30 วัน หลังจากเดือนที่มีปริมาณพื้นที่เพาะปลูกสูงสุดผ่านพ้นไปตามรายงานสถิติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยใกล้ชิด นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้ประสานความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ศึกษารูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมของประเทศไทย จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินที่มีความพร้อม มีความสามารถในการเข้าถึงเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงมีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร และได้กำหนดจัดเสวนาวิชาการของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 นี้ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และผลักดันให้มีระบบการประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไป
บทบาท ธ.ก.ส.ในการดำเนินโครงการนี้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 และเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรลูกค้าผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต2554– 2557 รวมทั้ง ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลโดยจะขอชดเชยเงินจากรัฐบาลในส่วนของเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 268,012,225.26 บาท พร้อมเห็นชอบให้ธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการในอัตราไร่ละ 10 บาท พื้นที่เพาะปลูกรวม 1.5 ล้านไร่ เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ ตามข้อบังคับ ธ.ก.ส.ฉบับที่ 55 ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมเริ่มดำเนินการให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2558