สกย. ไฟเขียวรับรองไม้ยางผลิต"วู้ดพาเลท"ส่งไปญี่ปุ่นเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ในฐานะโฆษก สกย. เปิดเผยว่า สกย. ได้มีโอกาสร่วมหารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจากกระทรวงพาณิชย์ และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทรฯ กรุงเทพฯ) เพื่อหารือในการรับรองเรื่องของการนำเศษไม้ยางพารา ขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราเข้าสู่กระบวนการอัดก้อน ทำเป็นถ่าน เพื่อนำส่งขายไปประเทศญี่ปุ่นในการนำไปสู่การสร้างพลังงานชีวมวล ซึ่งจากการหารือ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานทางเลือกที่นอกเหนือจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งขณะนี้ทางญี่ปุ่นเองมีการนำเข้าไม้อัดจากประเทศแคนาดาเป็นหลัก และในประเทศไทยเอง มีภาคเอกชนหลายแห่งที่กำลังดำเนินธุรกิจโรงงานชีวมวล แต่ทั้งนี้ การส่งวัตถุที่เป็นถ่านอย่างไม้ยางพาราไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น ยังคงติดประเด็นปัญหาเรื่องการรับรองไม้ยางที่นำไปทำเป็นผงถ่าน เป็นไม้ยางที่ถูกต้อง ไม่ได้เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า เพราะฉะนั้นทาง สกย. ในฐานะองค์กรที่ให้การดูแลและส่งเสริมให้การสงเคราะห์การปลูกยางพารากับภาคเกษตรกรโดยตรง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการรับรองแหล่งที่มาของไม้ยางพารา ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากการปลูก ไม่ได้มาจากไม้ป่าธรรมชาติ

“เป็นแนวทางหนึ่งหรือทางเลือกหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบการภายในประเทศที่คิดจะทำเรื่องของธุรกิจไม้ยางพาราไม่ว่าจะเป็นกิ่ง เศษไม้เล็กๆ รากไม้ยาง เอามาบดเพื่อที่จะไปทำเป็นถ่านอัดก้อนส่งไปขาย ทำให้เกษตรกรมีโอกาสเพิ่มรายได้ในการขายเศษไม้ยางที่ขายไม่ได้ราคา ซึ่งส่วนมากจะทำลายด้วยการเผาทิ้ง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และภาคเอกชน ได้มีโอกาสทำธุรกิจขายพลังงานชีวมวลให้กับต่างประเทศ นับว่า เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี"

นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ โครงการจากความร่วมมือการเจรจาทางธุรกิจร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทรฯ กรุงเทพฯ) การส่งเสริมสินค้า “วู้ดพาเลท" ไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการที่มีความเป็นมาจากกรณีเหตุการณ์โรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระเบิด ทำให้โรงงานก็มีจำนวนลดลง ส่งผลต่อการผลิตกำลังไฟฟ้าภายในประเทศ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงหันมาส่งเสริมโรงงานผลิตไฟฟ้าแบบชีวมวลมากขึ้น ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าไม้จากประเทศแคนาดาโดยส่วนใหญ่ และผลิตใช้เองในประเทศ แต่จะเป็นรูปแบบของ “วู้ดชิพ " ซึ่งเป็นเศษไม้จริงๆ ที่ได้จากการปลูกเพื่อตัดมาทำเป็นพลังงานโดยเฉพาะ ประกอบกับแนวโน้มของโลกที่ต้องการจะลดมลภาวะ จึงทำให้มีการส่งเสริมการตั้งโรงงานไฟฟ้าและผลิตโดยชีวมวล ทั้งนี้ ชีวมวล จะมีวัตถุดิบที่นำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงก็มีหลายแบบ ซึ่งทางประเทศไทยมองเห็นว่าขณะนี้ ยางพารามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ดังนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตนี้ได้อย่างไร ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงมองเห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีความสนใจที่จะผลิตวู้ดพาเลทจากเศษไม้ยางพารา ที่ผ่านมา ไม้ยางพาราที่มีการโค่นแล้วในส่วนที่เหลือก็ต้องมีการเผา ทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ หากเอาเศษไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาอัดแท่งเป็นขี้เลื่อย จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา และสร้างรายได้ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการต่อไป

สำหรับกระบวนการนำเข้าวู้ดพาเลทไปประเทศญี่ปุ่น จะต้องมีกฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องใบรับรองแหล่งที่มาของไม้ เพราะกฎหมายของทางญี่ปุ่น ได้มีการระบุว่า ไม้ที่นำมาทำนั้น ทำมาจากเศษไม้ยางพาราและไม่ได้นำมาจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่เป็นป่าที่ต้องมีการปลูกทดแทนอยู่แล้ว เนื่องจากหมดสภาพ ซึ่งหน่วยงานที่จะให้การรับรองในส่วนนี้ได้ จะต้องให้ทาง สกย. พิจารณา เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนยาง และคิดว่า สกย. จะเป็นไฟสว่างให้ไปเจอทางออกของเศรษฐกิจให้ได้ขณะนี้ ข้อกังวลเดียวคือ ใบรับรอง สำหรับช่องทางการตลาด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการไว้แล้ว ทั้งนี้ ในปี 2015 ประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการวู้ดพาเลทประมาณ 270,000 ตัน และในปี 2019 มีความต้องการสูงถึง 1.3 ล้านตัน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการของไทยมีความตื่นตัวและกำลังเร่งสร้างโรงงานประมาณ 50 แห่งในภาคใต้ เพราะภาคใต้เป็นภาคที่ปลูกยางพาราเป็นหลัก โดยมีการส่งขายภายในประเทศ แต่หากการเจรจาครั้งนี้ทางญี่ปุ่นยอมรับการรับรองการนำเข้าดังกล่าวได้ จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น

นายโยชิอะกิ โยเนะยะมะ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางการค้า เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า เจโทร มีหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เจโทร ยังให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการพร้อมกันด้วย การเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบของต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) และผู้ที่จะส่งออกของชาวไทย ซึ่งมีความต้องการซื้อ และขายวัตถุดิบที่จะนำไปสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เรียกว่า พลังงานชีวมวล จึงเป็นบทบาทของเราที่มีหน้าที่ติดต่อประสานงาน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการทำธุรกิจระหว่างผู้นำเข้า และส่งออกของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาหารือครั้งนี้ ซึ่งมีประเด็นการรับรองผลิตผลทางการเกษตรเป็นไม้ยางพาราสามารถกระจ่างได้อย่างชัดเจน ทางเจโทรจะเร่งกลับไปดำเนินการให้กระบวนการต่างๆ นั้น สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าบริษัทเทรดดิ้ง ที่ต้องการใช้วู้ดพาเลทมีกี่แห่ง ที่ใดบ้าง จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริงในเวลาอันรวดเร็วได้ เพราะทางญี่ปุ่นจะรู้สึกจะดีใจมาก หากสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไทย และทำให้การนำเข้าเป็นประโยชน์ของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ