ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 63.59 ลดลงจาก 64.47 ในเดือน มี.ค.57
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งในเดือน มี.ค.58 หดตัวลง 2.5% จากมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงการส่งออกสิ่งทอ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ที่หดตัวลงทำให้ในไตรมาส 1 ปี 58 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำหดตัว 1.4% ในส่วนของการนำเข้าสินค้าทุน พบว่าหดตัว 9.1% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) หดตัว 1.0%
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ โดยภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือน มี.ค.58 ผลิตรถยนต์ได้จำนวน 178,217 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.72% การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 74,117 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.75% และการส่งออกรถยนต์มีจำนวน 127,619 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.63%
โดยในปี 58 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ประมาณ 2.13 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13.30% จากปี 57 อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 9.3 แสนคัน เพิ่มขึ้น 5.49% และการผลิตเพื่อการส่งออก 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 6.37%
ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตในเดือน มี.ค.58 ปรับตัวลดลง 9.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากผลกระทบของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลง 9.5% โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ปรับตัวลดลง 13.01% เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมเครื่องจักรบางส่วนในสายการผลิต ประกอบกับความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุกในตลาดโลกลดลง สำหรับ Monolithic IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้น 23.62% และ 2.50 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงเช่นกัน 9.77% โดยพบว่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลง 11.59% 2.81% 10.82 % 23.45% และ 56.44% ตามลำดับ แต่การผลิตเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของชุดทำความเย็น (Condensing Unit) ชุดพัดลมเครื่องปรับอากาศ (Fan coil Unit) และพัดลม เพิ่มขึ้น 7.37%, 4.02% และ 19.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ
นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้านั้น การบริโภคเหล็กของไทยเดือน มี.ค.58 มีปริมาณ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.44 ล้านตัน ลดลง 8.33% โดยในส่วนของเหล็กแผ่นแบนโดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน มีการผลิตลดลง 22.14% เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ราย ได้หยุดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี ส่งผลให้การผลิตลดลง
ขณะเดียวกันการบริโภคเหล็กทรงแบนก็ลดลง 6.4% โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง 11.7% แต่เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก กลับมีการบริโภค เพิ่มขึ้น 33.2% และ 18.5% เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋อง มีการผลิตเพิ่มเพื่อการส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาว มีการผลิตเพิ่มขึ้น 3.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การบริโภคเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น 39.2% โดยเหล็กลวดเพิ่มขึ้น 72.6% , เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้าง เพิ่มขึ้น 23.5% เนื่องจากที่ผ่านมาราคาเหล็กลดลงจึงทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อโดยจะสั่งซื้อเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ส่งผลให้สินค้าคงคลังของผู้ใช้และพ่อค้าคนกลางลดลง จึงทำให้ผู้ผลิตเพิ่มการผลิต
ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตสินค้ากลุ่มสิ่งทอปรับตัวลดลง โดยผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอลดลงเล็กน้อย 0.93% ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนลดลง 11.63% เนื่องจากผู้ผลิตมีสต็อกค่อนข้างมาก ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนามซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตลดลง 1.80% ตามความต้องการใช้ในประเทศ
ขณะที่การส่งออกเดือน มี.ค.58 ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอมีมูลค่าลดลง 1.67% ตามการลดลงของตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย และบังคลาเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนมีมูลค่าส่งออกลดลง 2.15% ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกลดลง 1.90% จากคำสั่งซื้อในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 ที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมอาหาร ภาพรวมการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.5% เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวมากนัก ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สศอ.ยังคงเป้าหมายการเติบโตของดัชนีผลผลิตอุตสาหหรรม(MPI) ปี 58 ไว้ที่ 3-4% จากการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดการผลิตรถยนต์ที่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.13 ล้านคันได้ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าการผลิตและการส่งออกในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่อนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ที่ยังมีความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามกำลังซื้อที่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้