ในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯจากเมียนมาร์ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซฯไม่สามารถเดินเครื่องได้ และจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงสำรองทดแทน โดยโรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าหนองแซง โรงไฟฟ้าแก่งคอย โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ จำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเพิ่มเติม เบื้องต้นมีการใช้น้ำมันเตาไปทั้งสิ้น 112.08 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 12.71 ล้านลิตร
"ในส่วนของการใช้เชื้อเพลิงทดแทนดังกล่าว สำนักงาน กกพ. จะพิจารณาในส่วนค่าไฟฟ้าเอฟทีต่อไป ซึ่งคาดว่าแทบจะไม่มีผลกระทบต่อค่าเอฟทีเลย"นายทวารัฐ กล่าว
นายทวารัฐ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังวิกฤตพลังงาน (EC-MC) ซึ่งถือเป็นการรองรับสถานการณ์ช่วงการหยุดจ่ายก๊าซฯจากเมียนมาร์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญ ได้แก่ แหล่งยาดานาระหว่างวันที่ 10-19 เม.ย.58 และแหล่งซอติก้า ระหว่างวันที่ 20- 27 เม.ย.58 โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเฝ้าระวังระบบการผลิตไฟฟ้า การจัดหาเชื้อเพลิงทดแทนให้เพียงพอ และตรวจสอบคุณภาพการให้บริการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งพบว่าไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ และสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ตลอดช่วงการเฝ้าระวังวิกฤตพลังงานจากการหยุดจ่ายก๊าซฯจากเมียนมาร์ดังกล่าว ยอดการใช้ไฟฟ้าตลอดช่วงที่ผ่านมา มียอดต่ำกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)คาดการณ์ไว้ 448.6 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ยวันละ 24.9 ล้านหน่วย
นอกจากนี้ จากโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ซึ่งเป็นมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเปิดรับซื้อ "ผลประหยัดไฟฟ้า" กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ วันที่ 10 , 17 ,18 และ 20 เม.ย.58 โดยมีอัตราอุดหนุน 3 บาท/หน่วย
จากผลการดำเนินงานพบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการจาก ภาคอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ (Hypermart) และโรงแรม ทั่วประเทศเข้าร่วม 937 มิเตอร์ ซึ่งสามารถร่วมกันลดใช้ไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 507.43 เมกะวัตต์ในวันที่ 17 เม.ย. และภาพรวมของโครงการฯ ทั้ง 4 วัน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้เฉลี่ย 322.06 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 64.4% ของเป้าหมายโครงการฯ ที่กำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์